เมื่อพูดถึงวันพระ ย่อมหมายถึงวันสำคัญที่สุดใน
ทางศาสนาทุกศาสนา ซึ่งต้องมีวันสำคัญประจำศาสนาของตน ไม่ว่าจะเป็น
ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม และอื่นๆ อีกมากมายหลายศาสนา ล้วนแล้วแต่ม
ีวันที่ถูกกำหนดขึ้นให้เป็นวันที่ ศาสนิกชน ทุกคนจะต้องปฏิบัติศาสนกิจ
เป็นการสักการบูชาพระ ซึ่งเป็นที่เคารพและถือปฏิบัติเป็นประจำ เพื่อย้ำให้เกิดศรัทธาต่อองค์พระ
ที่ตนเคารพนับถือตลอดมา
วันพระในพระพุทธศาสนา
เดิมเรียกว่า วันธรรมสวนะ หรือ วันอุโบสถ หมายถึง วันที่ถูกกำหนดให้เข้าอยู่ประจำเพื่อรักษาศีลปฏิบัติธรรม
หรือเรียกว่า อุโบสถศีล คือ ศีลที่ต้องสมาทานรักษาในวันอุโบสถ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการจำศีล
ซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่พุทธศาสนิกชน จะได้ถือโอกาสเข้าวัดฝึกหัดกายวาจา
ฟังธรรม ตลอดจนฝึกหัดขัดเกลากิเลสในใจให้บรรเทาเบาบางลง และถือโอกาสทำบุญบำเพ็ญกุศลไปด้วย
ในวันขึ้นหรือแรม ๘ ค่ำ และวันขึ้น หรือแรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ ของทุกเดือน
ในมหาชนกชาดก ได้กล่าวถึงเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า คือ
เมื่อครั้งที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระมหาชนกโพธิสัตว์ เดินทางไปค้าขายทางทะเล
เกิดพายุ คลื่นในทะเลจัด พัดพาเรือสินค้าอับปางลงกลางมหาสมุทร บรรดาลูกเรือจมลงสู่ก้นทะเลเสียชีวิตทั้งสิ้น
หลังจากพายุและคลื่นในทะเลสงบแล้ว พระองค์ต้องว่ายน้ำและลอยคอไปตามแรงซัดของคลื่นทะเลตลอดระยะเวลาอันยาวนานถึง
๗ วัน พอถึงวันอุโบสถพระองค์ก็ทรงบ้วนปากด้วยน้ำทะเลนั่นเอง แล้วอธิษฐานสมาทานศีล
๘ (ศีลอุโบสถ) รักษาอย่างเคร่งครัดตลอดหนึ่งคืนหนึ่งวัน
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานปรากฏใน
พระวินัยปิฎก อุโบสถขันธกะ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๒๐๖ ข้อ ๑๓๒ เป็นหลักฐานยืนยันว่า
พระพุทธเจ้าได้เคยทรงอนุญาตให้ภิกษุประชุมกันในวัน ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ
และวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์ มีเรื่องเล่า ดังนี้
ระหว่างพระพุทธองค์ประทับอยู่
ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เป็นขณะเดียวกันกับพวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ (นักบวชต่างศาสนา)
มีการรวมตัวกันประชุมกล่าวแสดงหลักคำสอนตามความเชื่อในลัทธิของตน ทำให้ประชาชนต่างพากันแตกตื่นความแปลกใหม่
ให้ความสนใจแนวทางการสอนดังกล่าว และเข้ามามอบตัวเป็นศิษย์มากมาย ส่งผลให้พระเจ้าพิมพิสาร
เจ้าครองนครมคธ ครั้นทรงทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น จึงทรงดำริว่า :
"ระยะนี้ พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์
ต่างก็พร้อมใจกันชุมนุม กล่าวแสดงหลักคำสอนของตน แก่ประชาชนในวัน ๑๔
หรือ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์ ทำให้ประชาชนที่ไปร่วมรับฟังต่างก็เกิดศรัทธา
ไปเข้าพวกเดียรถีย์เป็นอันมาก ถ้าพระสงฆ์ สาวกของพระพุทธเจ้า มีการประชุมอย่างนั้นบ้าง
ก็คงจักบังเกิดผลดีแก่พระพุทธศาสนาแน่นอน"
จึงเสด็จเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลเรื่องนั้นให้พระพุทธองค์ทรงทราบ
พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกภิกษุให้มาประชุมพร้อมกันแล้วมีรับสั่งว่า
?ภิกษุทั้งหลาย
เราอนุญาตให้เธอทั้งหลายประชุมพร้อมกันใน (ทุก) วัน ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ
และวัน ๘ ค่ำ แห่งปักษ์?
เมื่อพระสงฆ์มาประชุมพร้อมกัน แล้วแต่ไม่ได้กล่าวไม่ได้แสดงธรรมแต่อย่างใด
ต่างพากันนั่งนิ่ง ชาวบ้านก็ตำหนิและเที่ยวประจานให้เกิดความเสียหายว่า
พระสงฆ์ประชุมกันแล้วนั่งนิ่งเหมือนสุกรใบ้ถูกขุนไร้คุณค่า เพราะไม่กล่าวธรรมไม่สอนธรรม
เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบ จึงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
"ภิกษุทั้งหลาย
(แต่นี้ไป) เราอนุญาตให้เธอ ทั้งหลายประชุมกัน กล่าวธรรม แสดงธรรม
ใน (ทุก) วัน ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำ แห่งปักษ์"
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ภิกษุทั้งหลายจึงได้ถือปฏิบัติตามพระพุทธานุญาตตลอดมา และวันที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตนี้เรียกว่า
วันอุโบสถ พร้อมทั้งทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์สวดปาติโมกข์ และแสดงธรรมเทศนาเพื่อให้ประชาชนผู้สนใจใคร่เรียนรู้
เข้าร่วมรับฟังอย่างพร้อมเพรียง
อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้เป็นเรื่องน่าเสียดาย
สำหรับวัฒนธรรมของชาวพุทธ ที่เกี่ยวข้องกับวันพระได้เปลี่ยนแปลงจากอดีตมาก
พระราชวิจิตรปฏิภาณ (พระพิพิธธรรมสุนทร)
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม
บอกว่า เหตุปัจจัยที่คนไม่เข้าวัดทำบุญ ในช่วงวันพระนั้นเกิดจากผู้นำไม่ทำเป็นแบบอย่างให้ผู้ตาม
กล่าวคือ
ประการแรกเกิดจากผู้นำประเทศไม่ได้ทำตัวเป็นผู้นำทางด้านศีลธรรมที่ดี
เมื่อผู้นำไม่รู้จักศีลธรรมจึงไม่รู้จักวันพระ บางคนถึงกับไม่มีวัดสำหรับไปทำบุญ
ในที่สุดก็ไม่ให้สำคัญกับวันพระและก็ไม่นำคนเข้าวัดปฏิบัติธรรม
เมื่อเป็นเช่นนี้ระเบียบของสังคมก็ถูกเปลี่ยนแปลงไป
ซึ่งจะเห็นการเข้าวัดของผู้นำประเทศ เป็นเหตุผลทางการเมือง บางคนเข้าวัดเพื่อเป็นข่าวปรากฏตามสื่อเท่านั้น
ประการที่สองต้องโทษเจ้าอาวาสหรือสมภารวัด
ละเลยประเพณีของตนเอง อย่าไปอ้างหรือโทษสังคมว่าวันพระคนไม่เข้าวัดพระจึงต้องออกบิณฑบาต
โดยในปัจจุบันนี้วัดใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ เช่น วัดโพธิ์ วัดชนะสงคราม วัดสุทัศนฯ
วัดประยุรฯ ก็ยังคงจัดกิจกรรมทางศาสนาเพื่อให้คนเข้าวัด ที่สำคัญ คือ
เจ้าอาวาสจะไม่มีการรับกิจนิมนต์ในวันพระ
ส่วนข้ออ้างสำหรับผู้ไม่เข้าวัด โดยอ้างว่าไม่ตรงกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์นั้น
เป็นข้ออ้างของคนบาป เป็นข้ออ้างของคนไม่อยากเข้าวัด วันหยุดเสาร์-อาทิตย์เป็นวันหยุดของสากล
แต่วันพระเป็นวันวัฒนธรรมของชาวพุทธ ซึ่งผู้ใหญ่ต้องทำให้เป็นตัวอย่างกับเด็กให้มี
ความเคร่งครัดเรื่องศีลธรรม โดยให้เริ่มในวันสำคัญทางศาสนาก่อน เช่น
วิสาขบูชา มาฆบูชา และ อาสาฬหบูชา จากนั้นก็เพิ่มการรักษาศีลในวันพระขึ้น(แรม)
๘ ค่ำ และ ๑๔ ค่ำ
พระราชวิจิตรปฏิภาณ
(พระพิพิธธรรมสุนทร) บอกด้วยว่า ในอดีตนั้นชาวพุทธจะเคร่งในเรื่องไม่ฆ่าสัตว์ในช่วงวันโกนกับวันพระ
ร่วมทั้งไม่ฆ่าสัตว์ที่ตั้งท้องเป็นอาหารอย่างเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นบาปมาก
แต่ปัจจุบันนี้กลับกลายเป็นว่า วันโกนไม่ละวันพระไม่เว้น ถือว่าเป็นของอร่อย
การห้ามฆ่าสัตว์ในวันพระ โดยเฉพาะการฆ่าสัตว์ที่มีไข่ เช่น ปลาไข่
ปูไข่ เป็นบาปมหันต์ ถือว่าเป็นภูมิปัญญาในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่งของคนโบราณ
เรื่องและภาพ
ธรรมจักร สิงห์ทอง
คณาจารย์สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์