บทความพิเศษ : ตามรอยพระพุทธบิดา พุทธจริยาอันควรปฏิบัติ
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 พฤศจิกายน 2547 14:07 น.


 

               การจะถือว่าสิ่งใดเป็นพุทธจริยา แบบอย่างหรือ ว่าตัวอย่างที่เหล่าสาวกจะพึงต้องศึกษาและปฏิบัติตามนั้น อาจดูได้ในหลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นการ ปฏิบัติส่วนพระองค์ หลักการที่ทรงสอนให้ถือเป็นแนว ทางในการปฏิบัติที่เรียกว่า “พุทธานุสาสนี” หรือภาพและแนวคิดสะท้อนของสิ่งที่สัมพันธ์เนื่องด้วยพระพุทธองค์ การเลือกจริยาบางอย่างที่เหล่าสาวกนำไปใช้ ทั้งในแง่ของการศึกษา การภาวนา และการสงเคราะห์ประชาชน จึงขึ้นอยู่กับฐานความคิด ความชอบ ความถนัดของแต่ ละคน แต่ที่เข้าใจกันโดยทั่วไปในระบบการศึกษาก็คือว่า พุทธจริยานั้นหมายความถึงการปฏิบัติตนของพระพุทธองค์นับตั้งแต่ที่ได้ตรัสรู้แล้ว และที่เรียกว่าพุทธจริยาได้ แท้จริงนั้น มักต้องเกี่ยวเนื่องด้วยบุคคลหรือสังคม ประการใดประการหนึ่งเสมอ ซึ่งทำให้คนธรรมดาอย่างเราคิด หรือเข้าใจไปว่า จริยาเช่นนั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะสามารถปฏิบัติได้ กรณีดังกล่าวแม้ว่าความจริงจะดู เหมือนว่าเป็นเช่นนั้น แต่พุทธจริยาบางระดับ หากเราเชื่อ ว่าแต่ละคนมีหน่อเนื้อแห่งความเป็นพุทธะอยู่ในกมลสันดานแล้ว ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีช่องว่างของความหมาย หรือหลักเกณฑ์บางประการที่พวกเราอาจนำมาปฎิบัติตาม จริยาของพระพุทธองค์ได้โดยสมควรแก่การปฏิบัติ (ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ)

               ประโยคแรกที่ทรงแจ้งให้สาวกทราบในการปฏิบัติตน ตามพุทธจริยา คือ พระวาจาที่ว่า “จะระถะ ภิกขะเว จาริกัง พะหุชะนะหิตายะ” หมายถึง การเที่ยวทำประโยชน์แก่ผู้อื่น (เพราะสาวกที่ส่งไปเป็นชุดแรกนั้นเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด จึงไม่มีงานใดที่ต้องทำเพื่อตนเองเลย) ซึ่งได้แสดงนัยสำคัญว่า พระองค์ทรงเชื่อใจสาวกมากในการ ทำหน้าที่แบบที่พระองค์ทำอยู่ แต่พอเอามาเปรียบกับปัจจุบันเมื่อเราไม่ใช่พระอรหันต์ เราจะสามารถทำกิจเช่น นั้นได้ละหรือ นี่คงเป็นคำถามที่หลายคนอาจคิดกังวลใจ เมื่อต้องให้ประพฤติตนตามแบบพุทธจริยาในวันเวลาที่ต่างออกไปเช่นนี้

                การเข้าใจหลักการดังกล่าวและการมีทัศนคติต่อพระพุทธเจ้าก็เป็นตัวแปรอีกประการหนึ่ง ในการสร้างความมั่นใจของสาวกต่อการปฏิบัติตามที่พระองค์ได้ทำไว้เป็นแบบอย่าง เนื่องจากบางคนถือว่าพระพุทธเจ้าเป็น ผู้สูงส่งที่เราควรเจียมตัวเมื่อต้องกล่าวถึง ซึ่งอาจจะทำ ให้เกิดช่องว่างถ่างห่างออกไปได้ในการปฏิสัมพันธ์เชิงลึก บางคนเห็นว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุคคลพิเศษในประวัติศาสตร์ที่ควรสรรเสริญ ซึ่งอาจนำไปสู่การลดศักยภาพตัวเองลงด้วยการใช้คำว่า “พิเศษ” มาขวางกั้น ส่วนบางคนก็ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นสัญลักษณ์ทางเลือกของคนที่ต้องการพ้นทุกข์ในการมีความพยายามต่อการปฏิบัติอย่างยิ่งยวด ซึ่งน่าจะเป็นพยานบุคคลและก่อให้เกิดกำลังใจในการปฏิบัติตามเป็นอย่างยิ่ง การเลือกทำความ เข้าใจพระพุทธเจ้าในแง่มุมต่างๆ จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะสะท้อนตัวเราว่ามีอารัพภธาตุที่จะกล้าและเริ่มทำในสิ่งใหม่ๆ ได้หรือไม่ โดยเฉพาะการปฏิบัติตามพุทธจริยา

                พุทธจริยาประการที่หนึ่ง คือ การเข้าใจหลักการของการบวช ว่าตนเองว่าบวชเข้ามาเพื่ออะไร (พระพุทธเจ้าออกบวชเพื่อต้องการพ้นทุกข์) มีข้อที่ควรศึกษาและปฏิบัติที่ส่งเสริมต่อเป้าหมายในการบวชอย่างไรบ้าง และตรวจสอบตนเองอยู่เสมอว่าตนก้าวหน้าในทางธรรมมาก น้อยแค่ไหน(กัลยาณปุถุชน-อริยชน) ข้อควรพิจารณาใน เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในพรหมจริยสูตร ซึ่งได้แสดงหลักการ ประพฤติของพระพุทธเจ้าเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับบรรดา สาวกในการประพฤติปฎิบัติตามแนวทางที่พระองค์ได้วางไว้ ซึ่งเนื้อหาได้ให้สติผู้บวชตามไว้ว่า ตถาคตอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในโลกนี้ด้วยมีเจตนามุ่งหมายว่าเพื่อ ที่จะระวัง เพื่อละ เพื่อคลายกำหนัดและเพื่อดับกิเลส เท่านั้น มิใช่เพื่อลวงประชาชน(ให้เห็นผิดไปจากหลักการพุทธศาสนา) มอมเมา(ในการสร้างวัตถุด้วยการเอาบุญเป็นเครื่องล่อ) หวังอำนาจอื่นใด(นอกเหนือจากการกระทำของตน(กัมมวาที) มิใช่เพื่อเกลี้ยกล่อม(ประชาชน ให้ยึดติดศาสนาโดยปราศจากปัญญาใคร่ครวญ ในฐานะที่ว่าศาสนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะตีความหลักธรรมนอกเหนือที่เคยยึดถือกันมามิได้) มิใช่เพื่อแสวงหาลาภ สักการะและคำสรรเสริญ(เพื่อเสริมสร้างอัตตาให้ใหญ่โตอันเป็นฆราวาสวิสัย) มิใช่เพื่ออวดอ้างวาทกรรม(อันไพเราะให้คนหลงใหลเชื่อถือที่ปราศจากวาจาอันเนื่องด้วยการปฏิบัติธรรม) และมิใช่เพื่อปรารถนาขอให้ประชาชนจงรู้จักตน(ด้วยการประชาสัมพันธ์อันปราศจากแก่นธรรมและสาระอันจะพึงมีในตน)

                ประการที่สอง คือ ความสัมพันธ์กับธรรมชาติ การที่ตนมี “วิชชาธรรม”(ความรู้ในการพ้นทุกข์) สมบูรณ์แล้ว เป็นเรื่องพอเพียงสำหรับการขัดเกลาตนเองอันเป็นเรื่องเฉพาะตน(สันทิฎฐิโก) แต่การสัมพันธ์กับสิ่งอื่น การเรียน รู้และเสริมสร้าง “จรณธรรม” ก็จะเป็นกุญแจไขความเข้า ใจของตนเพื่อสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้อย่างสนิทใจ นับตั้งแต่พื้นดิน ต้นไม้ เพราะว่าการมองธรรมชาติในฐานะ เพื่อนร่วมโลกมักนำไปสู่การวางตัวอย่างอ่อนน้อมและอิงอาศัยอย่างยำเกรง “นั่นโคนไม้ นั่นที่สงัด จงประกอบ ความเพียร อย่าต้องเสียใจในภายหลังเลย” หรือที่ว่า “การบรรพชานี้ อาศัยโคนต้นไม้เป็นที่อยู่อาศัย” เพราะการอยู่ ที่สบายเกินไปมักทำให้ประมาทและนำมาสู่ความเฉื่อยชา ในการปฏิบัติ นับว่าเป็นพระดำรัสที่แสดงว่าทรงวางพระองค์ต่อธรรมชาติอย่างไร แม้แต่เวลาพักทิวาวารหรือช่วงหลีกเร้นเพื่อภาวนา พระพุทธเจ้าก็จะแสวงหาต้นไม้ที่มีใบ ดกหนา สงบเย็น แล้วทรงพักเสมอๆ มิใยต้องกล่าวถึงข้อ ปฏิบัติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่ายของเสีย หรือทำลายต้นไม้ซึ่ง มีโทษเท่ากับการฆ่าสัตว์เลยทีเดียว

                ประการที่สาม คือ ความสัมพันธ์กับพุทธบริษัท ความเกรงใจต่อพระธรรมวินัย หรือการเคารพในสิทธิแห่งสมาชิกสงฆ์(หมายเอาพุทธบริษัททั้งหมด) เรามักจะเห็นพระองค์ทรงปฏิบัติเสมอๆ นับตั้งแต่การพิจารณารับบุคคลเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในสังคมสงฆ์ แม้ว่าช่วงแรก จะทรงพิจารณาเองก็ตาม การคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสม ในการทำงานให้กับชุมชน เช่นที่พระมหาโมคคัลลานะช่วย ควบคุมการก่อสร้างพระอารามของนางวิสาขา หรือการเป็น ตัวแทนสงฆ์ในการให้โอวาทแก่ภิกษุณีในวันปาติโมกข์ ก็ เป็นเรื่องที่สงฆ์ต้องลงมติด้วยความชอบธรรม โดยปราศ จากคำแย้งแม้แต่รูปเดียว ในบางเรื่องเมื่อสงฆ์ลงมติแล้ว แต่ทรงเห็นว่ายังมีข้อบกพร่อง ก็จะให้คำแนะนำหรือทางออกอื่นๆที่เลือกได้อีกทางหนึ่งเสมอๆ หรือบางเรื่องก็มักจะให้พุทธบริษัทฝ่ายอื่นมาร่วมในการพิจารณาด้วย อันเป็นเครื่องแสดงว่าความรับผิดชอบต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ในพุทธศาสนาเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของพุทธบริษัททุกฝ่าย เพราะแต่ละฝ่ายจะมีองค์ความรู้ในกลุ่มตนระดับต่างๆ เป็นการเฉพาะที่นำมาแลกเปลี่ยนเกื้อกูลกันได้

                ประการที่สี่ คือ ความสัมพันธ์กับคนต่างศาสนา การวางท่าทีที่เป็นมิตร และพร้อมที่จะแนะนำหรือแลกเปลี่ยน หลักธรรม หลักปฏิบัติด้วยความปรารถนาดีต่อเขาในฐานะสัตว์โลกที่จะพึงได้พบคำสอนอันประเสริฐในพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่พระองค์ปฏิบัติเริ่มตั้งแต่คราวส่งสาวกไป ประกาศธรรมเพื่อเกี้อกูลและอนุเคราะห์แก่สัตว์โลก ทรงเข้าไปในสำนักของอุรุเวลกัสสปะ เจ้าลัทธิยิ่งใหญ่ เป็นผู้ นำทางจิตและวิญญาณของคนจำนวนมากในเมืองแถบลุ่ม แม่น้ำ มิใช่เพื่อล่าสาวกหรือทำลายลัทธิอื่น แต่ต้องการนำเสนอหลักธรรมที่ทรงค้นพบให้ลองปฏิบัติตามว่าจะนำไปสู่ความสุขและพ้นทุกข์ได้หรือไม่(ใช้การแจ้งประจักษ์ด้วย ตนเองเข้าล่อ ไม่ใช่เอาบุญล่อ) ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญต่อมา ที่ทำให้กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งหันมานับถือพุทธศาสนา หรือการที่ทรงใช้ปัญญาตอบปัญหาของศิษย์ทั้ง ๑๓ คนของพราหมณ์พาวรีนักปราชญ์แห่งชมพูทวีปตอน ใต้ แม้จะไม่สามารถทำให้ตัวเจ้าลัทธิหันมานับถือพุทธศาสนาได้ แต่ก็เป็นโอกาสได้ประกาศความเป็นพุทธเจ้าให้ สะเทือนชมพูทวีปเลยทีเดียว ยิ่งหากเราได้ประกาศคำสอนต่อบุคคลทุกเชื้อชาติ(ชาวต่างประเทศ) ภาษา(สากล) ศาสนา(ต่างๆ ) และวัฒนธรรม(ความเชื่อท้องถิ่น) แล้ว น่าจะเป็นงานที่สืบทอดมาโดยตรงจากพระพุทธเจ้า มิใช่มัวตระหนี่หลักธรรมว่าเป็นสมบัติเฉพาะตนหรือกลุ่ม ปิดบังซ่อนเร้น ขาดการทำความเข้าใจอย่างชัดเจนและสม สมัยกับคนที่มีความคิดแบบอื่นๆ เช่นพวกนักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักการเมืองและองค์กรพัฒนาเอกชน นิกายในศาสนาต่าง ๆ

                ประการที่ห้า อันเป็นประการสุดท้าย คือ ความสัมพันธ์กับสัตว์โลกทั้งปวง เริ่มตั้งแต่การวางท่าทีอันประกอบด้วยเมตตาต่อสัตว์เดรัจฉานไม่ว่าจะเป็นสัตว์ร้ายหรือไม่ก็ตาม ดังวาทะที่ว่า “ผู้ที่ช่วยชีวิตเท่านั้นที่ควรจะเป็นเจ้า ของของชีวิต” ไม่ทรงแนะนำให้รับสัตว์เลี้ยงเพื่อสร้างภาพ ความมีเมตตา แต่การปล่อยสัตว์ต่างๆ ดำเนินชีวิตตามธรรมชาติน่าจะเป็นความเมตตาที่ปราศจากความเห็นแก่ตัวที่ตรงที่สุด สำหรับพวกอมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ นาค หรือสัตว์นรกเปรตต่างๆ แม้ว่าจะทรงคัดค้านการเข้ามาเป็นพุทธบริษัท แต่ก็ทรงให้ความสำคัญด้วยการแสดงธรรมให้ฟังและยกเป็นบุคคลตัวอย่างในหลายกรณี ไม่ได้ แสดงความเกลียดชังหรือน่ารังเกียจแต่อย่างใด ส่วนที่เป็น เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน พระวาจาที่ว่า “อัคคะมักขายะติ : เลิศกว่าเขาทั้งหมด” น่าจะเป็นคำที่ทรงรับรองความเป็นมนุษย์ ไว้สูงทีเดียว ไม่ว่าจะมาจากภาคไหนหรือพูดภาษาใด ไม่ทรงแบ่งพรรคพวกหรือมีความลำเอียงทางใดทางหนึ่งแต่ ประการใด มาถึงพวกเทวดาที่เราทั้งหลายมักอธิษฐานอยากไปเกิดกันนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้เห็นว่ามีความพิเศษ กว่าเป็นมนุษย์แต่อย่างใด เพราะยังมัวเมาอยู่ในกามคุณและการเสพความสะดวกสบาย ขาดโอกาสในการสร้างเสริมบุญบารมี ไม่เข้าใจในหลักไตรลักษณ์ ซึ่งในที่สุดก็ยังคงต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏต่อไป ดังนั้น หากพวกเรายังมัวแนะนำให้ชาวบ้านหลงใหลในบุญ เอาสวรรค์ เอาความร่ำรวยสะดวกสบายในชาติหน้ามาอ้างประการเดียว คำถามที่ต้องถามตนเองก่อนคือว่า เราเข้าใจหลักการ พุทธศาสนาถูกต้องเป็นองค์รวมหรือไม่

                พุทธจริยาดังกล่าว นับว่าเป็นแม่แบบการปฏิบัติ ที่ท้าทายเหล่าสาวกเป็นอย่างยิ่ง ว่าจะสามารถดำเนินรอยตาม ได้หรือไม่ ซึ่งในข้างท้ายนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์หรือวัดตัวเราระดับหนึ่ง โดยการเปรียบเทียบการปฏิบัติของตนเอง กับพระพุทธเจ้า
               (๑) พระพุทธเจ้าทรงรู้จักโลก และถอนตัวออกจากโลกแล้วด้วยกระบวนการแห่งอริยสัจ ๔
               (๒) พระพุทธเจ้าทรงเป็นแสงสว่างของโลก ด้วยการ บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้เข้าใจง่ายในเรื่องอริยสัจ ๔
               (๓) พระพุทธเจ้าทำงานเผยแผ่ศาสนาวันละไม่ต่ำกว่า ๒๐ ชั่วโมง ทรงตื่นแต่เช้าตรวจดูสัตว์โลกแล้วออกไปโปรด จากนั้นก็ไปบิณฑบาตหาโอกาสโปรดอีกทางหนึ่ง บางทีก็เที่ยวโปรดไปทั้งวัน ตอนเย็นก็สอนธรรมะชาวบ้านที่ไปวัด ตกค่ำก็สอนธรรมวินัยให้พระภิกษุสงฆ์ ตอนดึกก็ทรงแก้ ปัญหาของพระราชาหรือเหล่าเทวดาต่างๆ
               (๔) พระพุทธเจ้าตรัสว่า “แต่ก่อนหรือเดี๋ยวนี้ เราบัญญัติกฎเกณฑ์แต่เพียงเรื่องทุกข์และความดับทุกข์เท่านั้น” เมื่อตรัสก็ตรัสเฉพาะเรื่องทุกข์และความดับทุกข์เท่านั้น ไม่ใช่คุยกันเรื่องตาย-เกิด เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องพูดให้เสียเวลาเปล่า
               (๕) พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า สัตว์โลกมีทิฏฐิวิปริต มองเห็นไปว่าสุขมีเฉพาะแต่ในกามเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง นุ่งห่มที่มียี่ห้อราคาแพง อาหารเลิศรสที่สั่งได้ตามความปรารถนา ที่อยู่อาศัยอันอลังการเน้นความสะดวกสบาย และยาบำรุงร่างกายต่าง ๆ
               (๖) พระพุทธเจ้าทรงมีมุมมองว่า “ธรรมะหรือศาสนา นี้ จงใช้อย่างกับว่าเป็นแพสำหรับข้ามฟาก” ถ้าไม่มีแพก็ให้เก็บรวบรวมสวะที่ลอยน้ำมานั่นแหละให้ได้มากพอที่จะใช้เกาะข้ามฟากไปได้ ที่สำคัญก็คือไม่ควรยึดมั่นหรือพอใจในความดีที่ตนทำอยู่หรือทำได้แล้วจนเกินไป
               (๗) พระพุทธเจ้าทรงตักเตือนนักบวชด้วยกันโดยเปรียบกับหนูว่า “หนูที่ขุดรูก็มี ไม่ขุดก็มี ขุดแล้วอยู่ก็มี ขุดแล้วไม่อยู่ก็มี” หมายความว่า บวชแล้วไม่เรียนก็มี เรียนเรื่องผิดๆ ไม่ใช่หลักการศาสนาก็มี มีการศึกษารู้จักธรรมะมาก แต่ตนเองไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยก็มี คล้ายกับว่าสะสมบันไดไว้เยอะแยะ แต่ไม่รู้ว่าจะเอาไปพาดที่ ไหน หาพื้นที่ที่จะใช้ประโยชน์ไม่เป็นนั่นเอง

                ตามที่กล่าวมาจะเห็นว่า พุทธจริยาหรือการที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์ตามแบบฉบับของพระพุทธเจ้ามีหลายแง่ มุมที่อาจนำมาถือปฏิบัติตามความถนัดของแต่ละคนได้

                สำหรับหลักฐานที่กล่าวถึงเรื่องพุทธจริยา ๓ ประการนั้น ในพระไตรปิฎกแสดงไว้เพียงข้อเดียว ได้แก่ การที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสัตว์โลกทุกชนิด ต่อมาในอรรถกถาได้มีการเพิ่มมาอีก ๒ ข้อคือ ทรงอนุเคราะห์เหล่าพระญาติตามสมควรแก่ฐานะ และทรงบำเพ็ญประโยชน์ตามหน้าที่ในความเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการขยายความ ยุคสมัยในการสื่อสารกับสังคมที่แปรเปลี่ยนไป

                หากแต่ถ้าจะมองในแง่ของประโยชน์ที่จะพึงได้ในการดำเนินรอยตามพุทธจริยา อาจจำแนกได้ ๓ ส่วน คือ
               (๑) ประโยชน์ตน คือตนเองได้เรียนรู้ และปฏิบัติตามการเรียนรู้นั้นจนประสบผลจริง
               (๒) ประโยชน์ผู้อื่น คือได้นำเอาสิ่งที่ตนได้รู้เผยแผ่ แก่ผู้อื่น
               (๓) ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย คือเกิดการสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตรเพื่อส่งเสริมการศึกษาและปฏิบัติของกันและกัน
ในประโยชน์ทั้ง ๓ ประการนั้น ต้องเป็นประโยชน์ที่เรียกว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถะ” คือ เป็นประโยชน์ที่สัมผัสได้ในปัจจุบัน ในโลกนี้หรือที่เรียกว่าประโยชน์ขั้นต้น ถัดขึ้นไปเป็น “สัมปรายิกัตถะ” คือ เป็นประโยชน์เบื้องหน้า ในภพหน้า หรือที่เรียกว่า ประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไป จนถึงระดับสูงสุดซึ่งเป็นประโยชน์ที่เรียกว่า “ปรมัตถะ” คือ ประโยชน์ขั้นหลุดพ้นจากทุกข์

                และพุทธจริยาประการสุดท้ายที่สำคัญที่สุด แฝงอยู่ใน ประโยคสุดท้ายที่ทรงฝากให้คำนึงถึงคือ “อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ” ทรงปรารถนาให้พวกเราเป็นคนไม่ประมาท (เพราะพุทธบริษัทในขณะนั้นไม่ได้เป็นอรหันต์ทั้งหมด)

                จึงควรที่เราพุทธบริษัททั้งหลายจะได้ทำประโยชน์ตน ให้ถึงพร้อมเพื่อจะเป็นพลังในการสร้างประโยชน์อันสูง ส่งแก่คนและสรรพสัตว์เหล่าอื่นที่เหลือต่อไป


วัดท่าไทร
สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้(สุราษฎร์ธานี)
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์ประสานงานสมาคมป้องกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี