นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เสนอผลวิจัยพบต้นทุนจากการดื่มเหล้าสูงถึงร้อยละ 0.67 ของจีดีพี หรือประมาณ
7,500 ล้านบาทต่อปี แนะรัฐหาวิธีหาซื้อได้ยากจะลดปริมาณการบริโภคลงได้มากกว่า
ในการจัดเวทีนโยบายสาธารณะ
ที่ศูนย์ประชุมสถาบัน วิจัยจุฬาภรณ์ บ่ายวันที่ 30 มี.ค. มีการประชุมกลุ่มย่อยเรื่อง
นโยบายภาษีบาป โดย นายนิพนธ์ พัวพงศกร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นำเสนอผลการวิจัย เรื่องการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ต้นทุนสังคม และนโยบายควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่า การเพิ่มภาษีสุรานำเข้าจะลดการบริโภคได้ไม่มาก
คือเพิ่มภาษีร้อยละ 10 การบริโภคจะลดลงเพียงร้อยละ 6 แต่การเพิ่มอุปสรรคในการหาซื้อสุราจะได้ผลมากกว่า
เพราะหากเวลาในการหาซื้อเพิ่มขึ้นอีก 10 นาที จะซื้อเหล้าลดลง 0.3
ครั้ง และต้องลดจำนวนร้านค้าลง
"เมื่อคำนวณต้นทุนที่ต้องสูญเสียจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
พบว่าสูงประมาณร้อยละ 0.67 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
หรืออย่างต่ำประมาณ 7,500 ล้านบาทต่อปี โดยแบ่งเป็นต้นทุนของบุคคลร้อยละ
40 อีกร้อยละ 60 เป็นภาระที่สังคมต้องจ่าย และในขณะนี้รายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้น
ในขณะที่ราคาสินค้าประเภทนี้ มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ" นายนิพนธ์กล่าว
และว่า การรณรงค์เพื่อลดการบริโภคสุราจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง และเลือกกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์
และกลุ่มอายุ ซึ่งจากการวิจัยในต่างประเทศพบว่า การห้ามโฆษณาสินค้าประเภทนี้ในสื่อนั้นไม่มีผลต่อการบริโภคสุรา
ดังนั้น ควรจะใช้วิธีเมื่อสุราจะลงโฆษณาในสื่อ ก็ต้องให้เวลา หรือพื้นที่นำเสนอโฆษณาลดการบริโภคสุราในพื้นที่ใกล้กัน
และเท่าเทียมกัน เป็นกลยุทธ์แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน.
ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ 2 เม.ย.48
|