สุรา ถือเป็นสิ่งเสพติดที่นอกจากจะทำให้ผู้ดื่มขาดสติ
ยังทำร้ายร่างกายและจิตใจคนรอบข้างด้วย โดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัว
จะเด็ด เชาน์วิไล
ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ไม่ว่าจะเป็นการทุบตี การด่าทอที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง สาเหตุเกิดจากความไม่เท่าเทียมกัน
วัฒนธรรมที่คิดว่าผู้ชายเป็นใหญ่และมองว่าผู้หญิงเป็นสมบัติส่วนตัว
ผู้ชายหลายคนเมื่อแต่งงานแล้วมักจะคิดว่าผู้หญิงต้องทำงานบ้านทุกอย่างและต้องปรนนิบัติสามี
ยุทธศาสตร์ที่ทำให้สามารถแก้ไขความรุนแรงได้ดี
คือ ต้องทำให้ผู้หญิงมีพลังในการต่อรอง โดยการทำให้ผู้หญิงเห็นปัญหาของตัวเองแล้วนำไปสู่การปกป้องสิทธิของตนเอง
มากกว่าการมุ่งเน้นรณรงค์และเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ซึ่งขณะนี้ผู้หญิงจะมีพื้นที่สาธารณะไม่มากนัก
ส่วนใหญ่จะเป็นที่บ้านและที่ทำงาน ทำให้ไม่มีการพัฒนาศักยภาพ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ
เมื่อผู้หญิงใช้ความรุนแรงในครอบครัว ก็ถูกสังคมมองว่าเป็นเพราะฝ่ายหญิงทำตัวไม่ดีจึงเกิดความรุนแรงในครอบครัว
ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิงระบุว่า
ควรต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคม เช่น จะทำอย่างไรให้คนในสังคมมองว่าผู้หญิงเมื่อแต่งงานแล้วก็มีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย
ไม่จำเป็นต้องทำงานบ้านฝ่ายเดียว ทั้งนี้ การแก้ไขทัศนคติต้องเริ่มที่พื้นฐานก่อน
อาทิ เริ่มจากคนที่ได้รับผลกระทบเพราะเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง และจะเป็นปากเป็นเสียงของปัญหาเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม วิธีนำไปสู่ความเท่าเทียมกันนั้นไม่ได้เพียงตั้งเป็นกฎหมายหรือข้อปฏิบัติในเชิงทฤษฎีเท่านั้น
แต่ต้องให้ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ได้เรียนรู้ข้อกฎหมายเหล่านี้ในทางปฏิบัติด้วย
ปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะในชุมชนชนบท ซึ่งปัญหาความรุนแรงต่างๆ ล้วนมีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์
ซึ่งผลกระทบของความรุนแรงต่อครอบครัวนั้นมีสูงมาก จากการวิจัยพบว่า
การดื่มเหล้านำมาสู่ความรุนแรงในครอบครัวประมาณร้อยละ 70-80 นอกจากนี้จะมีความรุนแรงทางเพศ
ไม่ว่าจะเป็นการข่มขืน การทำอนาจาร ก็มีสาเหตุมาจากการดื่มเหล้า เช่นกัน
"ต้องให้ฝ่ายชายเข้ามามีส่วนร่วม
การที่ผู้ชายที่ให้ฝ่ายชายลด ละ เลิกเหล้าได้เข้ามามีส่วนร่วมทำให้ครอบครัวดีขึ้น
เพราะเมื่อสังคมมั่นใจว่าเขาเลิกเหล้าได้จะช่วยให้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวลดลง"
ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิงแนะ
"พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยทวีความรุนแรงขึ้น
และมีผลกระทบต่อสังคมโดยตรง โดยเฉพาะผลกระทบด้านความรุนแรงที่มีผลกับครอบครัวในปี
2543 ประเทศไทยบริโภคแอลกอฮอล์อยู่อันดับ 5 ของโลก ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นเป็น
3 เท่าภายในเวลา 14 ปี" ขวัญชนก ชูเกียรติ จากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้ากล่าว
สำหรับกลุ่มที่ติดแอลกอฮอล์มากที่สุดคือ
วัยทำงาน อายุประมาณ 25-48 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ส่วนสถานการณ์ของแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชนอายุ
15-19 ปี ร้อยละ 46.9 เริ่มทดลองดื่มสุรา ซึ่งเยาวชนไทยในปัจจุบันดื่มเป็นอันดับ
2 รองจากวัยทำงาน
สาเหตุที่วัยรุ่นลองดื่มแอลกอฮอล์นั้นเกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบคนในครอบครัว
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว พ่อแม่หรือคนในครอบครัวดื่มแอลกอฮอล์ ถึงร้อยละ
47.1 การโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ที่นำเสนอภาพออกมาอย่างสวยงามชักจูงก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เยาวชนและผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์หันมาทดลองดื่ม.
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ 3 เม.ย.48
|