ชาวพุทธมีมติเห็นชอบข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับ
พระพุทธศาสนากับความมั่นคงของชาติ


 

          ที่หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ วานนี้ (29 พ.ย.) เวลา 13.30 น. สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ในพระบรมราชูปถัมภ์และเปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศไทยได้จัดการสัมมนาเรื่อง “บทบาทของพระพุทธศาสนาในการส่งเสริมความมั่นคงของชาติ” โดยมี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นประธานในการสัมมนา และนายสมพร เทพสิทธา ประธานสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติฯ พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมจากองค์กรพระพุทธศาสนา ผู้แทนสถาบันการศึกษา ผู้แทนหน่วยราชการ และพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมาก

          พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวในที่ประชุมว่า เรื่องพระพุทธศาสนาและเรื่องความมั่นคงของชาติเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องสำคัญ พวกเราคนไทยควรจะให้ความสนใจ ศึกษาหาความรู้ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และปฏิบัติตนให้ถูกต้องในการส่งเสริมพระพุทธศาสนาและความมั่นคงของชาติ เพื่อให้สถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นแกนหลักแห่งความมั่นคงของชาติ การที่ประเทศชาติสามารถดำรงอยู่ได้อย่างสงบสุข มีความปลอดภัยจากการคุกคามหรือรุกรานจากศัตรูทั้งภายนอกและภายใน สามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างสมดุลและยั่งยืน ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พลังอำนาจที่ก่อให้เกิดความมั่นคงของชาติมีอยู่ 5 ประการ ได้แก่ ประการแรก พลังทางการเมือง ประการที่สอง พลังทางทหาร ประการที่สามพลังทางเศรษฐกิจ ประการที่สี่ พลังทางสังคม และประการที่ห้า พลังทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาทางภาคใต้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินินาถ ทรงมีความห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดภาคใต้ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดภาคใต้ได้ยุติลงโดยเร็ว ทรงมีความเห็นว่า "คนไทยทั่วประเทศไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดอยู่ในส่วนใดของประเทศจะต้องถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะมีส่วนในการแก้ไขปัญหา ได้ทรงขอให้ทุกฝ่ายทั้งภาคราชการและภาคประชาชน ทุกศาสนาร่วมมือกันอย่างจริงจัง นำสันติสุขกลับมาสู่จังหวัดภาคใต้โดยเร็ว การเข้าถึงและเข้าในปัญหาและแก้ปัญหาด้วยการรู้ รัก สามัคคี"

          และหลังจากการสัมมนาได้เสร็จสิ้นลงผู้ที่เข้าร่วมได้มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบปฏิญญาชาวพุทธเกี่ยวกับพระพุทธศาสนากับความมั่นคงของชาติ คือ

          พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยตลอดมาแต่โบราณกาล หลักธรรมของพระพุทธศาสนาได้เป็นที่พึ่งและหลักยึดเหนียวจิตใจของพุทธศาสนิกชนคนไทย ได้สร้างเอกลักษณ์อันดีงามแก่คนไทยและชาติไทย วิถีพุทธได้เป็นวิถีชีวิตของคนไทย ทำให้สังคมไทยมีความสงบเรียบร้อย ทำให้ประเทศชาติมีความเจริญมั่นคงมาจนทุกวันนี้

          พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ ได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงมาจนทุกวันนี้ ได้ทรงครองแผ่นดินโดยธรรมตามหลักทศพิธราชธรรม ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภ์ ทำให้ศาสนิกชนของศาสนาต่างๆ ในประเทศไทยมีความสมานฉันท์และความเข้าใจอันดีต่อกัน ไม่มีการทะเลาะวิวาทขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเหมือนในบางประเทศ

          สถาบันที่เป็นแกนหลักของความมั่นคงของชาติได้แก่ สถาบันชาติ สถาบันศาสนาโดยเฉพาะพระพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ ความสำคัญของสถาบันทั้งสามปรากฏอยู่ในธงไตรรงค์ ซึ่งเป็นธงชาติไทย คนไทยทุกคนไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใดนับถือศาสนาใด จึงมีหน้าที่ส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

          การเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจและสังคม ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีได้ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมยุคโลกาภิวัตน์ ความเจริญทางวัตถุได้ล้ำหน้ากว่าความเจริญทางจิตใจมาก ทำให้เกิดช่องว่างที่ห่างไกลระหว่างความมั่นคงทางวัตถุและความมั่งคั่งทางจิตใจ ทำให้คนตกอยู่ภายใต้กระแสวัตถุนิยมและบริโภคนิยม กระแสธรรมนิยมอ่อนกำลังลง ทำให้คนเป็นจำนวนไม่น้อยไม่เห็นความสำคัญของศาสนา และจิตใจ เป็นเหตุทำให้ความประพฤติ ความคิดและจิตใจของคนเบี่ยงเบนผิดทำนองคลองธรรมไม่เป็นไปตามหลักธรรมของศาสนา มีความประพฤติที่ผิดศีลธรรมเบียดเบียนกันมากยิ่งขึ้น มีความคิดที่ผิด ไม่เชื่อในการทำความดีว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำให้ปัญหาสังคมเพิ่มมากขึ้นและรุนแรงยิ่งขึ้น เช่น ปัญหาความไม่เป็นธรรม ปัญหาการเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบกัน ปัญหาการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความไมสงบเรียบร้อยในสังคม เช่น ที่เกิดใน 3 จังหวัดภาคใต้

          ในปัจจุบันพระพุทธศาสนาต้องประสบภัยและปัญหาหลายประการทั้งภัยภายนอกและภัยภายใน ภัยภายนอกมาจากลัทธิศาสนาอื่น จากกระแสวัตถุนิยมและบริโภคนิยม จากวัฒนธรรมต่างประเทศที่ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย ภัยภายในมาจากพุทธศาสนิกชนทั้งบรรพชิตและฆราวาสที่ไม่ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา เป็นชาวพุทธแต่เพียงในนามและตามสำมะโนครัว ไม่ได้เป็นชาวพุทธที่แท้จริงที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบาน มีคำพูดและการกระทำที่บ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ทำให้บทบาทของพระพุทธศาสนาในการส่งเสริมความมั่นคงของชาติลดน้อยลง

          ในการส่งเสริมบทบาทของพระพุทธศาสนาเพื่อส่งเสริมความมั่นคงของชาติ เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือและประสานงานกันอย่างเข้มแข็งจริงจังและต่อเนื่องทั้งคณะสงฆ์ รัฐบาล หน่วยราชการ สถานศึกษา องค์การพระพุทธศาสนา ประชาชน สื่อมวลชน ทุกฝ่ายต้องผนึกกำลังกันในการส่งเสริมพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระพุทธศาสนามีความเข้มแข็งเป็นสถาบันหลักที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมความมั่งคงของชาติทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

          รัฐบาลจะต้องมีนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการในการทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจนเป็นบูรณาการ มีการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการที่กำหนดไว้อย่างจริงจัง ควรปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ควรมีแผนทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาเพื่อให้เกิดเอกภาพควรมีคณะกรรมการทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาในระดับชาติและระดับจังหวัดเพื่อผนึกกำลังของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ

          หน่วยราชการจะต้องถือเป็นนโยบายและภารกิจที่สำคัญในการพัฒนาข้าราชการ ให้เป็นผู้มีคุณภาพ เป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม ควรอบรมข้าราชการในด้านจิตใจ เพื่อให้มีรากฐานทางจิตใจที่มั่นคงตามพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “รากฐานที่นับว่าสำคัญคือรากฐานทางจิตใจ” ให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมของศาสนา ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนาและคุณธรรม 4 ประการตามพระบรมราโชวาท มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริงให้สมกับที่เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

          ผู้บริหารสถานศึกษาทุกระดับ รวมทั้งครูอาจารย์จะต้องตระหนักในความสำคัญของศาสนาตามพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “คนเราต้องมีศาสนา มีความคิดหรือสิ่งที่คิดประจำใจอันเป็นแนวทางปฏิบัติในใจประจำตัว และต้องมีการศึกษาคือความรู้ต่างๆ ทั้งในด้านจิตใจ ทั้งในด้านวัตถุเพื่อประกอบกับตัวเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ได้ ทั้งสองอย่างเป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่จะแยกจากกันไม่ได้” ผู้บริหารสถานศึกษาและครูอาจารย์จะต้องอบรมสั่งสอนเยาวชน ให้เป็นผู้ที่พร้อมทั้งความเก่งและความดี มีทั้งความรู้และคุณธรรม โดยให้คุณธรรมนำความรู้และความเก่งไปใช้อย่างถูกต้องเป็นประโยชน์และเป็นธรรม ไม่นำความรู้และความเก่งไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยทำความเสียหายให้แก่ผู้อื่น สังคม ประเทศชาติ

          องค์การพระพุทธศาสนาจะต้องตระหนักในบทบาทและภารกิจในการส่งเสริมทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระพุทธศาสนาได้มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสังคม การพัฒนาสังคมและการส่งเสริมความมั่นคงของชาติ ควรมีการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการในการทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาที่ชัดเจน ปฏิบัติงานตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะอิทธิบาทสี่ สังคหวัตถุ ความซื่อสัตย์สุจริต ความเสียสละ ควรจัดตั้งและอบรมอาสาสมัครส่งเสริมพระพุทธศาสนาเพื่อให้ประชาชนและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ร่วมมือในการป้องกันแก้ไขภัยต่างๆ ที่เกิดแก่พระพุทธศาสนาด้วยความสามัคคีปรองดองกัน

 


ที่มา: นสพ.ผู้จัดการ 30 พ.ย.47

 

วัดท่าไทร
สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้(สุราษฎร์ธานี)
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์ประสานงานสมาคมป้องกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี