ระยะทางกว่า
60 กิโลเมตร กับเวลาชั่วโมงกว่าๆ ที่ดั้นด้นไปถึง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร
นับว่าเกินคุ้มสำหรับ กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะอีกครั้งที่ทำให้ได้เจอกับประโยคที่ว่า
"ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ในโลกนี้"
"พอโยมลงจากสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนมาแล้ว
แล่นรถมาเรื่อยๆ ประมาณ 10 กิโล แล้วมีที่กลับรถ พอกลับรถแล้วชิดซ้าย
เลี้ยวเข้าถนนที่เขียนหน้าปากทางว่า วัดสวนส้ม"
แต่เราไม่ได้ไปวัดสวนส้ม
พระอภิชาติ
อภิชาโต อธิบายต่อว่า พอเลี้ยวเข้าไปแล้ว ก็ให้ถามชาวบ้านแถวนั้นว่า
วัดคลองตันไปทางไหน ให้จอดรถถามทุกแยกเลยนะโยม เพราะไม่เช่นนั้นจะหลงไปไกล
ประมาณ 10 กิโล ก็จะถึงวัดคลองตัน
แต่เราไม่ได้ไปวัดคลองตัน
"จากวัดคลองตัน
ไปเรื่อยๆ อีกประมาณ 10 กิโล ก็จะถึงโรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว" ถึงแล้วเป้าหมายของไทยโพสต์ดอทเน็ตวันนี้
โรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว (สาครกิจโกศล) ตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว (แต่กว่าจะไปถึง
ก็เกือบหลุดขอบโลกไปแล้ว เพราะทั้งสวนมะพร้าวน้ำหอม ต้นเตี้ยๆ น่ารัก
กับสวนองุ่นนั้น ล่อตาล่อใจให้เข้าไปทักทายเหลือเกิน)
นักเรียนกำลังพักเที่ยงพอดี
และรถบัส 2 คันขนาดใหญ่ข้างรถมีตัวอักษร "ศูนย์การเรียนการสอน
คอมพิวเตอร์เคลื่อนที่วัดสุทธิวาตวราราม" จอดเด่นเป็นสง่าอยู่ในโรงเรียน
พระอภิชาติ
แห่งวัดสุทธิฯ หรือชื่อที่ชาวบ้านคุ้นเคยว่าวัดช่องลม อธิบายว่า
ศูนย์การเรียนการสอนคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ที่เป็นรถบัสขนาดใหญ่ 2 คันนี้
เกิดขึ้นตามแนวคิดของพระสาครมุนี เจ้าอาวาสวัดช่องลม
ที่ต้องการให้พื้นที่ห่างไกลมีโอกาสได้ใช้คอมพิวเตอร์
หรือได้เรียนรู้คอมพิวเตอร์ เป็นหนึ่งในหลายๆ โครงการสำหรับการพัฒนาชุมชนนอกเหนือจากที่วัดช่องลมเองก็มีการเปิดสอนคอมพิวเตอร์ให้ประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว
โครงการนี้จึงเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่
26 มกราคม 2545 หลังจากเตรียมโครงการ และเตรียมปัจจัยสำหรับลงทุน อยู่ประมาณ
3 ปี โดยใช้ปัจจัยที่เป็นรายได้จากทางวัด ส่วนการจัดทำโครงการ โดยเฉพาะอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
รวม ประมาณ 38 เครื่อง ในรถ 2 คันนั้น มีการต่อเครื่อง ต่อชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์
โดยพระในวัดทั้งหมด ซึ่งโดยเฉลี่ยรถบัส คันหนึ่งต้องใช้ปัจจัยลงประมาณ
2 ล้านบาท ทั้งการตกแต่งโต๊ะเก้าอี้ที่สั่งทำเป็นพิเศษ คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์
รวมไปถึงจอ โทรทัศน์ขนาด 25 นิ้ว ที่ติดตั้งในรถเพื่อใช้เป็นสื่อการสอน
จากวัดช่องลมมาถึงโรงเรียนเจ็ดริ้วไกลกันประมาณ
40 กิโลเมตร เพราะฉะนั้น ช่วงการสอนนี้รถบัสทั้ง 2 คันจะจอดที่นี่
จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่การพิจารณาไปเปิดสอนต้องดูความปลอดภัยของสถานที่
และไฟฟ้าก็ต้องมีความพร้อม เพราะรถใช้แอร์ขนาดถึง 2 ตัน
โรงเรียนเจ็ดริ้วนับเป็นโรงเรียนที่
8 ในภาคการศึกษานี้ เมื่อรวมตั้งแต่เปิดโครงการมีนักเรียนผ่านการเรียน
การสอนไปแล้วประมาณ 300 คน และในภาคการศึกษาหน้า มีโรงเรียนที่เสนอขอให้เข้าจัดสอนแล้ว
4 โรงเรียน ซึ่งการจัดการสอนนั้นจะเลือกเฉพาะเด็กนักเรียนชั้นประถม
6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพราะเป็นชั้นเรียนที่มีโอกาสนำไปใช้งานได้
โดยหลักสูตรการสอนจะเน้นการพิมพ์งาน รู้จักโปรแกรมไมโครซอฟต์เวิร์ด
เอ็กเซล เป็นต้น ซึ่งจะใช้เวลาในการอบรม 2 สัปดาห์
เวลา
13.00 น. เป็นเวลานัดหมายที่เด็กนักเรียนชั้น ป.6 จะเข้าเรียนเป็นครั้งแรก
ทุกคนมารออยู่หน้ารถบัส คันใหญ่ด้วยอาการกระตือรือร้น พร้อมสมุดดินสอถืออยู่ในมือครบครัน
หลายคนบอกว่า
"รู้สึกตื่นเต้นค่ะ"
ครูประจำชั้นตะโกนจัดแถวบอกเด็กๆ
ว่า "จับคู่นักเรียนชาย นักเรียนหญิงหรือยัง นักเรียนหญิงนั่งติดริมหน้าต่างนะ"
นั่นคืออีกเทคนิคหนึ่งที่ให้พระอาจารย์สามารถเดินในรถบัสได้สะดวกขณะทำการสอน
"ทุกคนเปิดเครื่อง"
"ปุ่มทางซ้ายมือด้านบน
Esc เห็นมั้ยครับ ปุ่มเว้นวรรค เคาะข้างล่าง ปุ่มยก ปุ่ม Enter เห็นแล้วใช่มั้ยครับ
ใครไม่เห็นยกมือขึ้นบอกนะครับ
ด้านขวาที่วางเมาธ์
เห็นมั้ยครับ คลิกซ้ายและขวา ลองคลิกดูเลยนะครับ"
ที่เหลือนับจากนี้จึงเป็นเวลาของห้องเรียนคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่
กับสิ่งที่เป็นไปได้ ที่เกิดขึ้น และความตื่นเต้นในสิ่งใหม่ที่เด็กๆ
ในชุมชนห่างไกลได้รับ.
ที่มา
:
นสพ.ไทยโพสต์
1 ก.ย.45
วัดท่าไทร
สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้(สุราษฎร์ธานี)
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์ประสานงานสมาคมป้องกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี
|