ในช่วงนี้จะมีวันสำคัญทางศาสนาวันหนึ่งคือ
"วันเข้าพรรษา" ซึ่งความหมายของการเข้าพรรษานั้น เป็นพุทธบัญญัติที่พระภิกษุทุกรูปจะต้องปฏิบัติตาม
คือการอธิษฐานอยู่ประจำที่ ไม่เที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่าง ๆ เว้นแต่จะมีกิจจำเป็นจริง
ๆ ช่วงจำพรรษาจะอยู่ในช่วงฤดูฝน คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง ขึ้น 15
ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เป็นเวลา 3 เดือนด้วยกัน
ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ก็จะลงมือเพาะปลูก ทำไร่ ทำนา ปักดำ ข้าวกล้าก่อนเข้าพรรษา ดังนั้นเมื่องานเสร็จแล้วก็จะมีเวลาว่างมาก
ประกอบกับการคมนาคมไม่ค่อยสะดวก เนื่องจากฝนตกชุก น้ำขึ้นเจิ่งนองเต็มแม่น้ำลำคลองทั่วไป
ชาวบ้านจึงถือโอกาสเข้าวัด ถวายทาน รักษาศีล ฟังธรรม และเจริญภาวนาเพิ่มพูนบุญกุศลมากขึ้น
ดังนั้น
เมื่อถึงวันเข้าพรรษาพุทธศาสนิกชนก็พากันหาอาหารทั้งคาวหวาน ผลไม้
และเครื่องอุปโภคตน บริโภคที่จำเป็นแด่สมณะ นำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดที่อยู่ใกล้บ้าน
ตามประวัติศาสตร์พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้เริ่มบำเพ็ญบุญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษานี้
ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ดังข้อความในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า
"พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ทั้งท่วยปั่วท่วยนาง
ลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งหญิงทั้งชาย ฝูงท่วย มีศรัทธาในพุทธศาสน์
มักทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน"
หลักธรรมที่ควรปฏิบัติในช่วงระหว่างเทศกาลเข้าพรรษา
1.สัมปัตตวิรัติ
ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่ว และอบายมุขต่าง ๆ ด้วยเกิดความรู้สึกละอาย(หิริ)
และเกิดความรู้สึกเกรงกลัวต่อบาป (โอตตัปปะ) ขึ้นมาเอง เช่น บุคคลที่มิได้สมาทานศีลไว้เลย
เมื่อถูกเพื่อน คะยั้นคะยอให้ดื่มสุรา ก็ไม่ยอมดื่มเพราะละอายและเกรงกลัวต่อบาปว่าไม่ควรที่ชาวพุทธจะกระทำเช่นนั้นในระหว่างพรรษา
2.สมาทานวิรัติ
ได้แก่ การงดเว้นบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยด้วยการสมาทานศีล
5 หรือ ศีล 8 จากพระสงฆ์โดยเพียรระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย
แม้มีสิ่งยั่วยวนจากภายนอกมาเร้าก็ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียง
3.สมุจเฉทวิรัติ
ได้แก่การงดเว้นบาป ความชั่ว และอบายุขต่าง ๆ ได้อย่างเด็ดขาด โดยตรงเป็น
คุณธรรมของพระอริยเจ้า ถึงกระนั้นสมุจเฉทวิรัติอาจนำมาประยุกต์ใช้กับบุคคลผู้งดเว้นจากบาป
ความชั่ว และ อบายมุขต่าง ๆ ในระหว่างพรรษากาล แม้ออกพรรษาแล้วก็มิกลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก
เช่น กรณีผู้งดเว้น จากการดื่มสุราและสิ่งเสพย์ติดระหว่างพรรษา แล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป
เป็นต้น ฯ
วัดท่าไทร
สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้(สุราษฎร์ธานี)
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์ประสานงานสมาคมป้องกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี
|