มนุษย์มงคล (มหามังคลชาดก)

              "วัตถุมงคล" ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีวัตถุใดเลยแม้สักอย่างเดียวที่จะทำความเจริญอันดีงามให้แก่ตัวเอง ได้ จะมีก็แต่ "มนุษย์มงคล" เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่จะสร้างมงคลให้แก่ตัวเอง ดีงามขึ้นได้ ทั้งยังจะสร้างมงคลสุขอันอบอุ่นเกื้อกูลแก่คนอื่นได้ แก่คนทั้งชาติ และแก่คนทั้งโลกได

              พระพุทธองค์จึงตรัสถึง "มงคล" ที่แท้จริงว่า คือการประพฤติที่ดีงามของมนุษย์เรานั่นเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุมงคลใด ๆ เลย

              ณ นครราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ ปรากฏมีบุรุษคนหนึ่งตะโกนขึ้นด้วยเสียงอันดัง ท่ามกลาง ฝูงชนที่เนืองแน่นว่า "วันนี้มงคล (สิ่งที่นำความสุขความเจริญมาให้) จะเกิดมีแก่เรา...มงคลจะเกิดมีแก่เรา..." กล่าวแล้วก็จากไป ปล่อยให้ผู้คนทั้งหลายพากันสงสัย หันมาไต่ถามกันว่า "อะไรหนอที่เป็นมงคล"

              ในที่นั้นเอง......พลันมีชายคนหนึ่งเอ่ยขึ้นก่อนว่า "การได้เห็นสิ..! เป็นมงคลอย่างยิ่ง เช่น ตื่นขึ้นมาแต่เช้า ก็ได้เห็นวัวควาย เห็นหญิงมีครรภ์ เห็นหท้อเต็มด้วยน้ำ เห็นเนยข้น เนยใส เห็นผ้าใหม่ เห็นข้าวปายาส (ข้าวสุกที่หุง ด้วยนมวัว) เป็นต้น การได้เห็นอย่างนี้แหละถือว่าเป็นมงคล นอกจากนี้ไม่ถือว่าเป็นมงคล"

              หลาย ๆ คนก็พากันพยักหน้าสนับสนุน"คนผู้นี้พูดถูกต้องแล้ว"

              "นั่น ไม่ใช่มงคล การได้สดับตรับฟังสิ..! เป็นมงคล เช่น ได้ฟังว่านี่สมบูรณ์ นี่เจริญ นี่สบาย นี่น่ากิน นี่น่าใช้ เป็นต้น การได้ฟังอย่างนี้จึงจะเป็นมงคล นอกนั้นไม่ใช่"

              ก็มีหลายคนเช่นกันที่คิดว่า "อย่างนี้สิ.! ถึงจะถูก"

              แต่ก็ยังมีผู้ไม่เห็นด้วยที่แย้งว่า "นั่นก็ไม่ใช่มงคล การได้สัมผัสแตะต้องสิ..! จึงจะเรียกว่าเป็นมงคล คือ ได้แตะแผ่นดิน หรือหญ้าเขียว ๆ ได้จับผ้าที่สะอาด ได้หยิบเงินทอง ได้จับต้องอาหาร จับต้องของกิน การได้จับต้อง อย่างนี้จึงจะเรียกว่าเป็นมงคล อย่างอื่นไม่ใช่มงคลหรอก"

              มีคนพวกหนึ่งยินดีกับความคิดนี้ "ท่านกล่าวถูกต้อง" เมื่อเป็นเช่นนี้ มหาชนทั้งหมดจึงมีความคิดเห็น ที่แตกต่างกันอยู่ ๓ จำพวก คือ

              ๑.พวกที่คิดว่าการได้เห็นเป็นมงคล (เรียกว่า ทิฏฐิมังคลิกะ)
              ๒.พวกที่คิดว่าการได้สดับตรับฟังเป็นมงคล (เรียกว่า สุตมังคลิกะ)
              ๓.พวกที่คิดว่าการได้จับต้องเป็นมงคล (เรียกว่ามุตมังคลิกะ)
ทั้ง ๓ จำพวกนี้ต่างคนต่างก็ไม่ยอมมีความคิดเห็นร่วมกันได้

              เรื่องนี้ก็เลยลุกลามไปใหญ่โต.... แม้กระทั่งเหล่าเทวดา (เหล่าคนใจสูง)ทั้งหลาย ก็ไม่อาจตัดสินใจได้ว่า ใครถูกต้องที่สุด ดังนั้นในที่สุด ท้าวสักกะจอมเทพ (ผู้ยิ่งใหญ่ของหมู่คนมีใจสูง) ทรงแก้ปัญหาด้วยความคิดที่ว่า "ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก(โลกของคนมีใจสูง) จะมีก็แต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ เราจะพาเทวดาทั้งหลายไปเข้าเฝ้าพระองค์"

              ท้าวสักกะจอมเทพ จึงพาเหล่าเทวดาไปทูลถามปัญหา ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงกรุณาประทานคำตอบด้วย ตรัสแสดง "มงคลสูตร" ซึ่งมีเนื้อหาสาระโดยสรุปว่า "มงคลมี ๓๘ ประการ" ให้ฟัง....เมื่อจบมงคลสูตรนั้นลง เทวดาจำนวนมากได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วที่ได้เป็นพระโสดาบันน์นั้น ก็นับ ไม่ถ้วนเลย

              ด้วยเหตุการณ์ดังนี้เอง "มหามงคล" จึงปรากฏแก่มนุษย์ทั้งหลายแล้ว ทำให้ภิกษุทั้งหลายพากันสรรเสริญ พระคุณของพระพุทธองค์ในธรรมสภาว่า "พระศาสดาทรงแก้ปัญหาเรื่องมงคล ซึ่งพ้นวิสัยที่ผู้อื่นจะแก้ได้ ทรงตัด ความรำคาญใจของมนุษย์(คนมีใจสูงด้วยคุณธรรม) และเทวดา (ผู้มีใจสูง) เสียได้ ดุจทำให้ดวงจันทร์ส่อง สว่างอยู่ในท้องฟ้าฉะนั้น ท่านทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทรงมีพระปัญญามากถึงเพียงนี้"

              ขณะนั้นเอง พระพุทธองค์เสด็จมาถึง เมื่อทรงทราบเรื่องที่เล่าพระภิกษุสนทนากันแล้ว จึงตรัสว่า "ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย การแก้ปัญหาเรื่องมงคลโดยที่เราเป็นผู้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ (ความรู้อันเป็นเหตุรู้แจ้งที่ถูกต้องซึ่งสามารถรู้ได้ด้วยตัวเอง) แล้วในบัดนี้ ไม่น่าอัศจรรย์เลย ไม่เท่าเมื่อครั้งเรายังเป็นพระโพธิสัตว์ (ผู้บำเพ็ญพระบารมีธรรมเพื่อจะให้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ประพฤติธรรมอันประเสริฐอยู่ เราเคยแก้ปัญหาเรื่องมงคลนี้ แล้วตัดความสงสัยของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายได้ นั่นจึงน่าอัศจรรย์มากกว่านัก" แล้วจึงทรงนำเอาเรื่องราวนั้นตรัสให้ฟัง ดังต่อไปนี้

              ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้ารหมทัตต์ ครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี ปรากฏมีทารกน้อยคนหนึ่ง ถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ ซึ่งสมบูรณ์เพรียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ อยูในนิคมตำบลหนึ่ง โดยที่บิดามารดาได้ตั้งชื่อให้ว่า "รักขิตกุมาร"

              เมื่อรักขิตกุมารเจริญเติโตึ้นแล้ว ได้ไปศึกษาเล่าเรียนที่เมืองตักกสิลาจนจบศิลปวิทยาแล้ว ก็มีภรรยาอยู่ครองเรือนของตน กระทั่งมารดาบิดาล่วงลับไป จึงได้จรวจตราดูทรัพย์สินที่มีอยู่มากมายมหาศาล แต่แทนที่จะดีใจ กลับบังเกิดความสังเวชใจ เบื่อหน่ายที่จะต้องแสวงหาทรัพย์ใหม่ ต้องคอยดูแลรักษาทรัพย์สินที่มีอยู่เดิม และจะต้องระแวงระวังทรัพย์ทีมีอยู้ให้ปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย เขาจึงตกลงใจยกทรัพย์สินส่วนหนึ่งให้แก่ภรรยา แจกจ่ายให้แก่ข้าทาสบริวาร และให้เป็นทานแก่คนทั่วไปเป็นการใหญ่

              ในที่สุดก็ไปบวชเป็นดาบสอยู่ที่ป่าหิมพานต์ กระทำความเพียรเผาผลาญกิเลส จนได้ฌานและอภิญญา อาศัยเพียงเผือกมันและผลไม้ในป่าเป็นอาหารเท่านั้น กระทั่งต่อมา.........ได้มีคนมีสมัครเป็นอันเตวาสิก (ลูกศิษย์)มากมายถึง ๕๐๐ คน

              อยู่มาวันหนึ่ง ลูกศิษย์ทั้งหลายได้พากันเข้าไปหาดาบส ครั้นไหว้แล้วกล่าวว่า "ข้าแต่ท่านอาจาย์ นี่ก็ล่วงพ้น ฤดูฝนแล้ว พวกข้าพเจ้าปรารถนาจะออกจากป่านี้ จาริกไปตามชนบทต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความอดทนแข็งแรงให้แก่ร่างกายและจิตใจของตน จึงมาขออนุญาตจากอาจารย์"

              รักขิตดาบสได้ฟังเช่นนั้น ก็กล่าวว่า "ถ้าปรารถนากันเช่นนั้น พวกท่านก็จงไปกันเถิด แต่เราจะยังคงอยู่ใน ที่นี้แหละ" ดาบสเหล่านั้น จึงนมัสการลาอาจารย์ออกเที่ยวจาริกไปในชนบททั้งหลาย จนกระทั่งได้ไปถึงเมืองพาราณสี ได้แวะพักอยู่ในพระราชอุทยาน ชาวเมืองเมื่อทราบข่าวก็พากันมาเคารพสักการะเป็นจำนวนมาก

              วันหนึ่ง ชาวเมืองจำนวนมากประชุมสนทนากัน ที่เรือนรับแขกในเมืองพาราณสี พูกคุยกันถึงเรื่อง "มงคล" บ้างก็่ว่าการได้เป็นเป็นมงคลอย่างยิ่ง เช่น ได้เห็นโคเผือก ได้เห็นหม้อที่เต็มด้วยน้ำ ได้เห็นผ้าใหม่ ได้เห็นข้าวปายาสอย่างดี ฯลฯ

              แต่บางคนก็แสดงความคิดเห็นว่า การได้สดับฟังต่างหากเป็นยอดมงคล เช่น ได้ฟังคนพูดถึงข่าวดี พูดถึง ความเจริญ พูดถึงความสบาย พูดถึงอาหารรสเลิศ ฯลฯ
แต่อีกพวกก็ว่า การได้จับต้องจึงจะเป็นมงคล เช่น ได้จับต้องแผ่นดิน จับต้องหญ้าเขียว ๆ จับผ้าสะอาด จับเงินทอง จับอาหารดี ๆ ฯลฯ

              ทั้ง ๓ พวกนี้ ต่างฝ่ายต่างก็ยินดีในมงคลของตน เชื่อในความถูกต้องอย่างของตนเท่านั้น คนทั้งหมดจึงมี ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แล้วก็ไม่อาจที่จะมีความเห็นร่วมกันได้ว่า อย่างใดเป็นมงคลอย่างแท้จริง เมื่อไม่สามารถจะตัดสินได้ จึงพากันไปเข้าเฝ้าพระเจ้าพรหมทัตต์ แต่พระราชาก็ไม่ทรงสามารถจะตอบปัญหามงคลนี้ได้ พระราชาพร้อมกับผู้ที่สงสัยทั้งหมด จึงพากันไปยังอุทยาน ถามปัญหามงคลกับเหล่าดาบส

              แม้เหล่าดาบส ก็กล่าวว่า "มหาบพิตร พวกอาตมาก็มิอาจตอบมงคลปัญหานี้ได้ เห็นทีจะมีก็แต่อาจารย์ ของพวกอาตมาเท่านั้นซึ่งเป็นผู้มีปัญญามาก ซึ่งอาศัยอยู่ที่ป่าหิมพานต์ จะไขข้อมงคลนี้ให้จับใจมนุษย์และเทวดาทั้งหลายได้"

              พระราชาทรงสดับแล้วก็ตรัสกับเหล่าดาบสว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญทังหลาย ดินแดนหิมพานต์นั้นไกลนัก และไปยากลำบากอย่างยิ่ง พวกเราไม่สามารถจะไปในที่นั้นได้ ถ้าจะให้ดีแล้ว พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดกลับไปยังสำนักอาจารย์ เรียนถามเรื่องมงคลนั่นไว้ ท่องจำให้ขึ้นใจ แล้วนำกลับมาบอกเล่าให้พวกข้าพเจ้าฟังด้วยเถิด"

              ดาบสเหล่านั้นพิจารณาแล้ว ก็ยอมรับปากตามนั้น แล้วจึงออกเดินทางไปสู่ป่าหิมพานต์ เมื่อถึงแล้วได้ไป สนทนาบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้อาจารย์ฟัง พลางเรียนถามท่านว่า "พวกข้าพเจ้าขอโอกาสต่อท่านอาจารย์ ขอให้ท่านอาจารย์ได้โปรดเฉลยปัญหามงคลให้แจ่มแจ้งแก่พวกข้าพเจ้าด้วยเถิดว่า อะไรเป็นมงคล จะทำอย่างไรจึงจะเป็นมงคล จะทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้อันความสวัสดี(ความดี ความเจริญรุ่งเรือง) คุ้มครองแล้วทั้งในโลกนี้และโลกหน้า"

              รักขิตดาบส ตอบปัญหานั้นด้วยญาณอันรู้ยิ่งว่า "แม้เทวดาและพรหมทั้งปวง ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย บุคคลใดอ่อนน้อมเป็นนิจด้วยจิตเมตตา บัณฑิตทั้งหลายกล่าวเมตตาของบุคคลนั้นว่า เป็นสวัสดิมงคล ในสัตว์ทั้งปวง

              ผู้ใดประพฤติถ่อมตนแก่สัตว์โลกทั้งผอง แก่หญิงและชายพร้อมทั้งเด็ก เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำชั่วร้าย ไม่กล่าวลำเลิกถึงเรื่องเก่า ๆ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวความอดกลั้นของผู้นั้นว่า เป็นสวัสดิมงคล ผู้ใดเป็นผู้มีปัญญาดี มีความรู้แจ้งปรุโปร่ง เมื่อเหตุเกิดขึ้น ไม่ดูหมิ่นมิตรสหายด้วยศิลปะ-ทรัพย์- สกุลและชาติกำเนิด บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวการไม่ดูหมิ่นสหายของผู้นั้นว่าเป็นสวัสดิมงคลในมิตรสหายทั้งหลาย

              สัตบุรุษ เป็นผู้ชอบคุ้นเคยกับใคร ๆ เป็นมิตรแท้ เป็นผู้มีคำพูดมั่นคง เป็นผู้ไม่ประทุษร้ายมิตร เป็นผู้แบ่งปัน ทรัพย์ของตนให้แก่มิตร บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวการได้ประโยชน์เพราะอาศัยมิตรและการแบ่งปันของผู้นั้นว่า เป็นความสวัสดิมงคลในมิตรทั้งหลาย
ภรรยาของผู้ใดมีวัยเสมอกัน อยู่ด้วยกันด้วยความปรองดอง ประพฤติตามใจกัน เป็นคนใคร่ธรรม ไม่เป็น - หญิงหมัน มีศีลโดยสมควรแก่สกุล รู้จักปรนนิบัติสามี บัณฑิตทั้งหลายกล่าวคุณความดีในภรรยาของผู้นั้น ว่า เป็นสวัสดิมงคลในภรรยา

              พระราชา เป็นเจ้าแผ่นดิน ทรงพระอิสริยยศใหญ่ ทรงทราบความสะาดและความขยันหมั่นเพียรของราชเสวก (ข้าราชการในสำนัก) คนใด และทรงทราบราชเสวกคนใดเป็นผู้ไม่ร้าวรานกับพระองค์ ทั้งทรงทราบราชเสวกคนใดมีใจจงรักภักดีต่อพระองค์ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวคุณความดีของราชเสวกนั้น ๆ ว่า เป็นสวัสดิมงคลในพระราชาทั้งหลาย

              บุคคลใดมีศรัทธาให้ข้าวน้ำ ให้ดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ มีจิตเลื่อมใสยิ่งในการให้ บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวความศรัทธาในการให้ของบุคคลนั้นว่าเป็นสวัสดิมงคลในสวรรค์ทั้งหลาย

              สัตบุรุษทั้งหลายผู้รู้แจ้งด้วยญาณ ผู้ยินดีแล้วในในสัมมาปฏิบัติ เป็นพหูสูต แสวงหาคุณ เป็นผู้มีศีล ทำบุคคล อื่นให้บริสุทธิ์ด้วยอริยธรรม บัณฑิตทั้งหลายยกย่องความดีของสัตบุรุษนั้นว่าเป็นสวัสดิมงคลในท่ามกลางพระอรหันต์

              ความเป็นสวัสดิมงคลเหล่านี้ ผู้รู้สรรเสริญแล้วว่า มีสุขเป็นผลกำไรในโลก ชนผู้มีปัญญาทั้งหลายพึงเสพ ความสวัสดีเหล่านี้ไว้ในโลก ส่วนมงคลทั้ง ๓ คือ การได้ฟัง การได้สดับฟัง และการได้จับต้อง นั้น ล้วนมิใช่มงคลแท้จริง"

ที่มา : ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๐๕ หน้า ๔๑-๔๘ คอลัมน์ "ชาดกอดีตชาติของพระพุทธเจ้า"

วัดท่าไทร
สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้(สุราษฎร์ธานี)
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์ประสานงานสมาคมป้องกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี