เมื่อ 2-3 ปีก่อนมีการทดลองเพื่อศึกษาแบบแผนการเลือกคู่ของผู้คน
ผู้วิจัยได้นำภาพถ่ายของชายและหญิงที่อยู่กินด้วยกันนานหลายปีมาสลับกันแล้วรวมไว้ในกองเดียวกัน
จากนั้นให้อาสาสมัครเลือกเอาภาพของคนที่หน้าตาคล้ายกันมาจับคู่กัน
ปรากฏว่าคู่ที่อาสาสมัครเลือกมานั้นมักเป็นคู่สามีภรรยากันจริง ๆ การทดลองหลายครั้งได้ผลถูกต้องบ่อยครั้งเกินกว่าที่จะเรียกว่าเป็นความบังเอิญ
มีการทดลองคล้ายๆ กันอีก
คราวนี้ให้อาสาสมัครทำการเจรจาต่อรองเรื่องเงิน ปรากฏว่าคู่เจรจาอีกฝ่ายมักจะได้รับความไว้วางใจมากกว่าหากว่าเขาหรือเธอมีหน้าตาคล้ายกับอาสาสมัคร
การทดลองนี้ให้ผลสอดคล้องกับข้อสังเกตที่มีมานานแล้วว่า คนเราจะให้ความไว้วางใจมากกว่าแก่คนที่มีหน้าตาใกล้เคียงกับตน
การทดลองทั้งสองกรณีชี้ว่า
หน้าตาที่คล้ายกันนั้นมีผลต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยั่งยืน
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า
หน้าตาและรูปร่างที่คล้ายกันนั้นบ่งชี้ถึงความใกล้ชิดกันทางด้านพันธุกรรม
สัตว์ทุกชนิดมีสัญชาตญาณอย่างหนึ่งคือการพยายามถ่ายทอดและรักษาพันธุกรรม(หรือยีน)ของตนให้อยู่รอดและยั่งยืน
แม่เสือยอมตายเพื่อรักษาชีวิตของลูกน้อยก็เพื่อให้ยีนของลูก(ซึ่งมียีนของแม่ครึ่งหนึ่ง)สามารถอยู่รอดและถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อๆ
ไปได้
มดปลวกและผึ้งยอมตายเพื่อปกป้องรังและพวกพ้องของมัน
ก็เพราะทุกตัวในรังล้วนมียีนเหมือนกัน(เพราะมาจากแม่หรือนางพญาตัวเดียวกัน)
"ตัวตายแต่ยีนอยู่"
คือภารกิจของทุกชีวิต ซึ่งไม่ได้หมายถึงการรักษาตัวให้รอดเท่านั้น
หากยังรวมไปถึงการช่วยเหลือให้ตัวอื่นๆ ที่มียีนใกล้ชิดกับตนอยู่รอดด้วย
ด้วยเหตุนี้สัตว์จึงมีความรู้สึกใกล้ชิดเป็นพิเศษกับตัวอื่นๆ ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายๆ
กัน เพราะนั่นหมายถึงการมีพันธุกรรมเดียวกัน(หรือใกล้กัน)
สมมติฐานดังกล่าวสามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดสัตว์จึงมักจับคู่กับตัวที่มีลักษณะคล้ายกับมัน
แต่ต้องไม่คล้ายกันมากเกินไป(เพราะนั่นอาจหมายถึงการสืบพันธุ์กับพี่น้องร่วมสายเลือดซึ่งเป็นผลเสียต่อพันธุกรรมของลูกหลาน)
เคยมีการทดลองกับหนูและนกคุ่ม
พบว่าตัวผู้มักจะจับคู่และผสมพันธุ์กับตัวเมียที่มีสีหรือกลิ่นคล้ายกับพี่น้องหรือแม่ของมัน
หรือคล้ายกับตัวที่มันคุ้นเคยตั้งแต่ยังเล็กๆ
ทั้งหมดนี้อธิบายได้ไม่มากก็น้อยว่า
ทำไมเราถึงนิยมแต่งงานกับคนที่มีหน้าตาใกล้เคียงกัน และเหตุใดคนที่มีหน้าตาใกล้เคียงกันจึงคบหาหรืออยู่กินด้วยกันได้นานกว่า
อย่างไรก็ตาม
คำอธิบายดังกล่าวมีนัยที่กว้างกว่านั้น เพราะหากคำอธิบายดังกล่าวเป็นความจริง
นั่นก็หมายความว่าความรู้สึกว่าเป็น "พวกเรา" นั้น มีรากเหง้าอยู่ในยีนของเราด้วย
ไม่ใช่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมหรือการบ่มเพาะทางสังคมเท่านั้น
ความรู้สึกว่าเป็น
"พวกเรา" นั้นมักเกิดขึ้นเมื่อพูดภาษาเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน
บริโภคสินค้ายี่ห้อเดียวกัน ชื่นชมนักร้องคนเดียวกัน สังกัดสถาบันเดียวกัน
และอยู่ประเทศเดียวกัน แต่ปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันก็คือ
การมีสีผิวและชาติพันธุ์เดียวกัน
สีผิวและชาติพันธุ์เดียวกันในสมัยก่อน(และแม้กระทั่งปัจจุบัน)
ย่อมหมายถึงภาษา วัฒนธรรม และเผ่าเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ลึกลงไปกว่านั้นมันยังหมายถึงการมียีนหรือพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน
อย่างน้อยก็ใกล้กว่าคนต่างเผ่า ต่างสีผิว และต่างชาติพันธุ์
ยีนหรือพันธุกรรมในเซลล์ของเรานั้นมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อความรู้สึกนึกคิดของเรา
ชนิดที่ยากจะปฏิเสธได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะถูกกำหนดโดยยีนไปเสียทั้งหมด
มีพฤติกรรมหลายอย่างของมนุษย์ที่อธิบายไม่ได้ว่าเป็นเพราะอำนาจของยีน
เช่น การมีกลุ่มนักบวชที่ครองชีวิตพรหมจรรย์ หรือการเห็นแก่ประเทศชาติ(ซึ่งประกอบด้วยคนหลากหลายชาติพันธุ์)ยิ่งกว่าชีวิตของตน
จนเกิดคำพูดว่า "ตัวตายแต่ชื่อยัง"
มนุษย์เรานั้นมีความคิดที่สามารถพัฒนาเป็น
"ปัญญา" และมีอารมณ์ความรู้สึกที่สามารถพัฒนาเป็น "กรุณา"
ได้
ปัญญาและกรุณานี้เองที่ทำให้มนุษย์สามารถเป็นอิสระจากอำนาจบงการของยีน
อย่างน้อยก็ในแง่พฤติกรรม(แม้มันยังคุมได้ในแง่กายภาพอยู่) ด้วยเหตุนี้เองความสำคัญมั่นหมายว่า
"พวกเรา" จึงสามารถข้ามพ้นเส้นแบ่งทางด้านสีผิว ชาติพันธุ์
ตลอดจนศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมได้อิสรภาพดังกล่าวทำให้มนุษย์สามารถทำวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ที่พบเห็นได้แม้ในชีวิตประจำวัน
แม่ชีเทเรซาเล่าว่า
ครั้งหนึ่งได้ข่าวว่ามีชาวฮินดูครอบครัวหนึ่งซึ่งมีลูกแปดคนไม่ได้กินอาหารมาหลายวันแล้ว
ท่านจึงจัดอาหารเพียงพอสำหรับหนึ่งมื้อและเดินทางไปยังบ้านของพวกเขา
ภาพที่ท่านเห็นคือ
เด็กผอมแห้ง ตาโปน น่าสะเทือนใจมาก เมื่อผู้เป็นแม่ได้ข้าวมา ก็แบ่งข้าวออกครึ่งหนึ่ง
และเดินออกไปข้างนอก เมื่อเธอกลับมา แม่ชีเทเรซาถามว่า "เธอไปไหนมา?"
ผู้เป็นแม่ตอบว่า "พวกเขาก็หิวเหมือนกัน" เธอหมายถึงเพื่อนบ้านซึ่งอยู่ถัดไป
พวกเขามีลูกที่ต้องเลี้ยงดูจำนวนใกล้เคียงกัน และไม่ได้กินอะไรเลยมาหลายวัน
ทั้งหมดเป็นครอบครัวมุสลิม แต่ความต่างศาสนาไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกว่าพวกเขาเป็น
"คนอื่น" และแม้เธอจะลำบากมากแต่ก็ยังมีใจนึกถึงคนอื่นซึ่งลำบากเหมือนกัน
ยีนที่ทำให้สัตว์นึกถึงแต่พวกพ้องที่มีสายเลือดใกล้เคียงกันนั้นอธิบายเรื่องนี้ไม่ได้
หรืออย่างน้อยก็ไม่สามารถบงการให้ผู้เป็นแม่คิดถึงแต่ลูกของตนเท่านั้น
มองในอีกแง่หนึ่ง ถ้าเราเชื่อว่ายีนมีอิทธิพลจริงๆ เป็นไปได้ไหมว่ามียีนอีกชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการเอื้อเฟื้อเสียสละข้ามสายเลือด
ข้ามพันธุกรรม ข้ามชาติพันธุ์ หรือแม้แต่ข้ามชนิดพันธุ์(species)
เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ที่รัฐแมริแลนด์มีผู้พบเห็นห่านตัวหนึ่งติดอยู่กลางลำธารซึ่งกลายเป็นน้ำแข็ง
ปีกทั้งสองข้างอ่อนแรงหุบอยู่ข้างตัว ส่วนเท้าทั้งสองจมหายไปในแผ่นน้ำแข็ง
ขณะที่เธอกำลังตัดสินใจทำอะไรบางอย่างก็เหลือบเห็นฝูงหงส์บินผ่านมา
สักพักก็แปรขบวนเป็นวงกลมและร่อนลงพื้นรอบๆ ตัวห่าน หงส์กับห่านนั้นปกติไม่ค่อยคบค้าสมาคมกัน
บางครั้งก็เป็นปฏิปักษ์กันด้วยซ้ำ
ขณะที่เธอกำลังวิตกว่าห่านกำลังจะถูกหงส์รุมจิกตี
การณ์กลับกลายเป็นว่าหงส์ต่างพากันใช้จะงอยปากจิกแซะน้ำแข็งที่ยึดเท้าห่านอยู่
เหล่าหงส์ใช้เวลาอยู่นานจนน้ำแข็งบางพอที่ห่านจะยกเท้าขึ้นได้ พอเป็นอิสระแล้วห่านก็ขยับปีก
แต่ก็ไม่สามารถบินได้ ทีนี้ก็มีหงส์สี่ตัวเข้ามาไซ้ปีกห่านทั้งด้านนอกและด้านในเพื่อเอาน้ำแข็งออก
สักพักห่านก็ลองสยายและหุบปีกทีละนิด พอหงส์เห็นห่านสามารถกางได้สุดปีก
ก็รวมกลุ่มกันใหม่แล้วบินต่อไปจนลับสายตา
ความเอื้ออาทรมิได้มีอยู่แต่ในมนุษย์เท่านั้น
หากยังมีในหมู่สัตว์โดยไม่จำกัดเฉพาะเผ่าพันธุ์ของตัว เรื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าคุณธรรมนั้นก็เป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งของสัตว์ด้วย(อย่างน้อยก็ในสัตว์ชั้นสูง)
แม้ไม่มีการอบรมบ่มเพาะ ก็สามารถแสดงอานุภาพให้ประจักษ์ได้
มนุษย์เรามีความสามารถที่จะรักและเอื้อเฟื้อผู้อื่นแม้จะต่างสีผิว
ศาสนา และเผ่าพันธุ์ ความสามารถนี้เกิดจากปัญญาและกรุณาไม่น้อยไปกว่าที่ฝังอยู่ในสัญชาตญาณของเรา
บางทีเราอาจไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าการเปิดโอกาสให้ศักยภาพดังกล่าวมีโอกาสแสดงออกเท่านั้น
หรืออย่างน้อยก็ไม่ไปทำลายมันด้วยการเรียนรู้และผิดๆ ซึ่งมีอยู่มากมายในสังคม
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ปีที่ 28 ฉบับที่ 9905 วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2548 หน้า 9
|