เมื่อผมเรียนหนังสือชั้นมัธยมปีที่
๖ มีหนังสือเรียนภาษาไทยเรื่อง กามนิตภาคบนดิน เมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่
๔ ถึงชั้นมัธยมปีที่ ๕ (ช่วงปี ๒๔๘๑-๒๔๘๙) ได้เรียนวรรณคดี เช่น สังข์ทองตอนตีคลี
รามเกียรติ์ตอนท้าวมาลีว ราชว่าความ อิเหนาตอนศึกกุหมังกุหนิง ราชาธิราชตอนศึกฝรั่งมังฆ้อง
สามก๊กตอนแตกทัพเรือ นิทราชาคริต เวนิช-วานิช หนังสือในเชิงนวนิยายนั้นทุกโรงเรียนห้ามนักเรียนนำเข้ามาอ่าน
เพราะถือว่าเป็นนิยายประโลมโลกอ่านแล้วเด็กจะใจแตก ชิงสุกก่อนห่าม
ไม่ตั้งใจเรียน ใครเอาเข้ามา เมื่อครูพบจะโดนตี และยังริบหนังสือไปเป็นสมบัติของครู
นักเรียนเพิ่งมาเจอะเจอหนังสือเรียนที่มีเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ก็เรื่องกามนิตนี่แหละ
เห็นจะเป็นเพราะอยู่ชั้นมัธยมปีที่ ๖ พอจะรู้รักษาตัวรอดได้แล้ว อย่างไรก็ตามกระทรวงศึกษาธิการอุตส่าห์เปลี่ยนชื่อหนังสือกามนิต
เป็นวาสิฏฐี คงจะเกรงกลัวกับคำว่า "กาม"
ความจริงหากท่านหยิบหนังสือมาอ่าน
พิจารณาเฉพาะตอนที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ท่านจะได้อะไรมาก มายทีเดียว
ซึ่งจะขอคัดตัดตอนมาให้ได้อ่าน
ในคำนำที่ผู้เรียบเรียงคือ
เสถียรโกเศศ และนาคะประทีป เขียนไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ ว่า "ท่านผู้รจนา
เรื่องนั้น ๆ ย่อมกล่าวถึงพระองค์ด้วยความเคารพเป็นที่ตั้ง"
ในบทที่
๑ ขึ้นต้นอย่างไพเราะว่า "ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลงมา ตรัสรู้ในมนุษย์โลกแล้ว และถึงวาระอันควรจะเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน
พระองค์ได้เสด็จสู่ที่จาริกไปในคาม ชนบท ราชธานีต่าง ๆ แห่งแคว้นมคธ
จนบรรลุกรุงราชคฤห์มหานคร" ได้บรรยายบรรยากาศในวันนั้นว่า "ขณะพระองค์เสด็จมาใกล้เบญจคีรีนคร
คือ ราชคฤห์ เป็นเวลาจวนสิ้น ทิวาวาร แดดในยามเย็นกำลังอ่อนลงสู่สมัยใกล้วิกาล
ทอแสงแผ่ซ่านไปยังสาลีเกษตรแลละลิ่วเห็นเป็นทาง สว่างไปทั่วประเทศสุดสายตา
ดูประหนึ่งหัตถ์ทิพย์มาปกแผ่อำนวยสวัสดี เบื้องบนมีกลุ่มเมฆเป็นคลื่นซ้อนซับสลับกันเป็นทิวแถวต้องแสงแดดจับเป็นสีระยับวะวับแววประหนึ่งเอาทรายทองไปโปรยปราย
เลื่อนลอยละลิ่ว ๆ เรี่ย ๆ รายลงจดขอบฟ้าชาวนาและโคก็เมื่อยล้าด้วยตรากตรำทำงาน
ต่างพากันดุ่ม ๆ เดินกลับเคหสถานเห็นไร ๆ เงาหมู่ไม้อันโดดเดี่ยวอยู่กอเดียว
ก็ยืดยาวออกไปทุกที ๆ มีขอบปริมณฑลเป็นรัศมีแห่งสีรุ้ง"
อีกตอนหนึ่งกล่าวว่า
"ครั้งกระนั้น พระองค์เป็นผู้แสวงหาความหลุดพ้นทุกข์ ต้องต่อสู้กับกิเลสมารอันหนา
แน่น ต้องกระทำทุกกรกิริยา ซึ่งมนุษย์อื่นที่แกล้วกล้าสามารถก็ย่อท้อ
ทำไม่ได้ จนภายหลังทรงเห็นแจ้งซึ่งสังสารทุกข์ เสด็จออกจากทุกข์แล้ว
ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันความเป็นไปของพระองค์ครั้งกระโน้นตลอดมาจนครั้งกระนี้
ก็เหมือนดั่งกลางวันในฤดูฝน พอรุ่งเช้ามีแสดงแดดมาแผดจ้า แล้วนภากาศพะยับอับแสง
เกิดพายุแรง ฟ้าคะนองก้องสะท้าน ซ่านด้วยเม็ดฝน ครั้นแล้วท้องฟ้าก็หายมืดมน
กลับสว่างสงบเงียบ มีวิเวกเหมือนภูมิประเทศในยามเย็นที่กล่าวแล้ว จนกว่าพระอาทิตย์จะอัสดงดิ่งหายไปในขอบฟ้า
อันว่าพระอาทิตย์จะอัสดงลงฉันใด
สำหรับพระตถาคตในขณะนี้ก็มีฉันนั้น พระองค์ได้ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์
ให้เห็นแจ้งซึ่งกองทุกข์ ทรงแสดงธรรมอันแท้จริงให้ประจักษ์ และประทานหลักความหลุดพ้นจากทุกข์แก่มนุษย์นิกรทั่วโลกธาตุ
มีบริษัท ๔ เป็นผู้สืบศาสโนวาท เผยแพร่พระธรรมของพระองค์ให้แพร่หลาย
และประพฤติปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ รักษาไว้ตลอดจิรกาลาวสาน
แม้เมื่อพระองค์ประทับยืนอยู่ขณะนั้น
ก็ได้ทรงจินตนาการอันเกิดขึ้นด้วยพระปริวิตกถึงที่ได้เสด็จมายืน โดดเดี่ยวตลอดวันว่า
"ถึงเวลาแล้ว ในไมช้า เราก็จะละสังขารนี้ไป คือสังสาระซึ่งเราได้ถ่ายถอนตนหลุดพ้นแล้วตลอด
จนยังผู้ที่มาภายหลังให้หลุดพ้นด้วย..! แล้วเข้าสู่ความดับสนิทด้วยอำนาจปรินิพพานธาตุ"
เรื่องได้ดำเนินมาถึงตอนที่กามนิตได้พบพระพุทธองค์ ในขณะทรงประทับแรมคืนที่บ้านช่างหม้อ
ได้ทรงแสดงธรรมให้แก่กามนิต
พระธรรมที่ทรงประกาศ
คือ ธรรมอันทำให้แจ้งความจริงอย่างยิ่ง ๔ ประการ, ๔ ประการนั้นคืออะไร
? ได้แก่ ความจริงอย่างยิ่งคือทุกข์, ความจริงอย่างยิ่งคือเหตุให้เกิดทุกข์,
ความจริงอย่างยิ่งคือการดับทุกข์ทั้งสิ้น และความจริงอย่างยิ่งคือทางที่ดำเนินไปถึงความดับทุกข์ทั้งสิ้น
"ดูก่อนภารดา
ความจริงอย่างยิ่งคือทุกข์นั้นเป็นอย่างไร ?, ได้แก่ ความเกิดมานี้เป็นทุกข์
ความที่ชีวิต ล่วงไป ๆ เป็นทุกข์ ความเจ็บป่วยเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์
ความอาลัย ความคร่ำครวญ ความทนลำบาก ความเสียใจและความคับแค้นใจ ล้วนเป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์, ความประจวบกับสิ่งที่ไม่รัก
เป็นทุกข์ ความที่ไม่สมประสงค์ เป็นทุกข์, รวมความว่าบรรดาลักษณะต่าง
ๆ เพื่อความยึดถือ ผูกพัน ย่อมนำทุกข์มาให้ทั้งนั้น
ดูก่อนภารดา
นี่แหละความจริงอย่างยิ่งคือทุกข์ ก็แหละความจริงอย่างยิ่งคือเหตุให้เกิดทุกข์นั้นเป็นอย่างไร
? ได้แก่ ความกระหาย ซึ่งทำให้เกิดมีสิ่งต่าง ๆ อันความเพลิดเพลินใจ
และความร่านเกิดตามไปด้วย เพลิดเพลินนักในอารมณ์นั้น ๆ คือกระหายอยากให้มีไว้บ้าง
กระหายอยากให้คงอยู่บ้าง กระหายอยากให้พ้นไปบ้าง ดูก่อนภารดา นี้ความจริงอย่างยิ่งคือเหตุให้เกิดทุกข์
ก็แหละความจริงอย่างยิ่งคือการดับทุกข์ทั้งสิ้นนั้นเป็นอย่างไร
? ได้แก่ ความดับสนิทแห่งความกระหายนี้ เอง ไม่ใช่อื่น ความละเสียได้
ความปลดเสียได้ ซึ่งความกระหายนั่นแหละ และการที่ความกระหายนั้นไม่ติดพันอยู่
ดูก่อนภารดา นี่แหละความจริงอย่างยิ่งคือการดับทุกข์ทั้งสิ้น
ก็แหละความจริงอย่างยิ่งคือทางดำเนินไปถึงความดับทุกข์ทั้งสิ้นนั้นเป็นอย่างไร
?ได้แก่ ทางอันประเสริฐ มีองค์ ๘ คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ
วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ความพยายามชอบ ความระลึกชอบ ตั้งใจชอบ,
ดูก่อนภารดา นี่แหละความจริงอย่างยิ่งคือทางดำเนินไปถึงความดับทุกข์ทั้งสิ้น"
ในท้ายแห่งเทศนา
พระองค์ทรงประมวลพระธรรมบรรยายทั้งหมดในคราวเดียวกัน เสมือนด้วยเรือนอัน
ตะล่อมขึ้นด้วยยอดเด่นเห็นสง่างามรุ่งเรืองได้แต่ไกล ด้วยพระวาจาว่าดั่งนี้
"ดูก่อนอาคันตุกะผู้แสวงบุญ ความเกาะเกี่ยวใคร่กระหายต่อความเกิด
ย่อมเป็นเหตุให้ถึงความเกิด หากตัดความใคร่กระหายเช่นนั้นเสียได้ขาด
ท่านก็ย่อมไม่เกิดในภพไร ๆ อีก
อันภิกษุผู้พ้นแล้วจากความเกาะเกี่ยวยึดถือ
พึงใคร่ในอารมณ์ไร ๆ แล้ว ย่อมบังเกิดญาณความรู้แจ้งขึ้นมา ภายในจิตอันสงบ
แจ่มใส ปราศจากอวิชชาความไม่รู้จริง วิมุตติความหลุดพ้นนั้นบัดนี้เป็นผลประจักษ์แล้ว
นี้คือความเกิดเป็นครั้งสุดท้าย สิ้นความเกิดใหม่ในภพโน้นแล้ว"
ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้ามิได้ชี้ความดับทุกข์ว่าเป็นที่สุดแห่งการปฏิบัติ
หรือมิได้สอนให้กำหนดรู้ความทุกข์ เป็นทางปฏิบัติก่อน เอาแต่พร่ำสอนด้วยวิธียกสมบัติ
สวรรค์ในชาติหน้ามาให้ชมเพื่อล่อใจว่า เมื่อตายแล้วแล้วจะไปเกิดใหม่ใน
๑๖ ชั้นฟ้า ได้เสวยศฤงคารสมบัติสวรรค์ในชาติหน้านั้น มีแต่ความสุข
ได้อย่างใจทุกประการ เพียงเท่านี้จะมีผลเป็นอย่างไร ? คงมีสาวกอเนกอนันต์
มีความเชื่อถือ ยินดี รับคำสั่งสอนได้โดยเร็ว และคงเพียรพยายามเพื่อความหลุดพ้นจากโลกมนุษย์ด้วยความเต็มใจ
แต่หารู้ไม่ว่า ความเพียรเพื่อหลุดพ้นแต่เป็นไปในอาการเช่นนี้ ย่อมเป็นการรั้งเอาตัณหาคือความร่านกระหายติดไปด้วยกันกับตนอย่างแน่นหนา
ต้องเวียนว่ายตายเกิดในเหตุแห่งความทุกข์ แล้วก็ได้รับผลคือความทุกข์
จะหลุดพ้นไปไม่พ้นเลย เปรียบเหมือนสุนัขเฝ้าบ้าน ถูกผูกล่ามไว้กับเสา
พยายามจะให้หลุดพ้นเครื่องล่ามไป แต่ก็รั้งเอาเครื่องล่ามนั้นไปด้วยรอบ
ๆ เสา ก็ไม่สามารถหลุดไปได้ อุปมาฉันใด, ภิกษุผู้ตั้งความเพียรเพียงไรก็ตาม
แต่เมื่อรั้งเอาตัณหาต้นเหตุแห่งความทุกข์มาเพลินใจไว้ด้วย ก็ต้องวนเวียนรับทุกข์แล้วทุกข์เล่า
ไม่ออกจากภพน้อยภพใหญ่ไปได้ มีอุปไมยอย่างเดียวกัน
อีกตอนหนึ่ง
ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่กามนิต "ดูก่อนอาคันตุกะ ทั้งนี้ก็เช่นเด็กไม่เดียงสาคนหนึ่ง
กำลังยืนอยู่ เด็กคนนี้ปวดฟันเจ็บร้าวไปหมด พอเห็นแพทย์ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญก็วิ่งไปหา
และบอกถึงความทุกข์ให้ฟังว่า "ข้าพเจ้าขอความกรุณาให้ใช้ความรู้ขอท่านช่วยทำให้รู้สึกเกิดปีติสุขแทนความเจ็บปวดที่มีอยู่ในขณะนี้"
แพทย์ตอบว่า "ความรู้ที่มีอยู่ก็คือถอนเหตุแห่งความเจ็บปวดนั้นเสีย,
การที่จะทำให้เกิดสุขทั้ง ๆ ที่ไม่ต้องถอนเหตุที่ทำให้เจ็บออกเสียก่อน
ย่อมไม่ได้" แต่เด็กนั้นไม่พอใจคร่ำครวญว่า "ได้ทนความเจ็บปวดรวดร้าวที่ฟันมานานแล้ว
จึงควรได้รับรสแห่งความบันเทิงสุขแทน และก็ได้ทราบว่ามีแพทย์วิเศษที่สามารถทำให้เกิดความสุขได้โดยไม่ต้องถอนฟันที่เจ็บออก
เข้าใจว่าท่านคือแพทย์วิเศษที่อาจทำได้ เมื่อท่านไม่สามารถทำได้ ก็ต้องไปหาแพทย์อื่น"
ว่าแล้วเด็กคนนั้นก็ไป มีแพทย์เถื่อนทำปาฏิหาริย์เล่นกลได้มาจากแคว้นคันธาระ
ตีกลองร้องโฆษณาว่า "ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง ความไม่มีโรคเป็นที่มุ่งของมนุษย์
ผู้ใดมีความเจ็บป่วยทนทุกข์เวทนาร้ายแรงเพียงไร ก็อาจรักษาให้กลับเป็นผู้มีแต่ความสุข
ความบันเทิงทั่วทั้งสรรพางค์กายได้ โดยเสียค่ารักษาอันย่อมเยาว์"
เด็กเจ็บฟันวิ่งไปหาแพทย์เล่นกลและขอให้ช่วยเปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นความบันเทิงสุขด้วย
แพทย์เล่นกลก็อวดอ้างและรับรองว่าตนมีความรู้ ความชำนาญในทางนี้ ว่าแล้วก็เรียกค่ารักษาเสียก่อน
เอานิ้วแตะที่ฟัน เสกคาถาอาคมตามพิธี เด็กนั้นรู้สึกหายเจ็บปวด วิ่งกลับบ้านโดยความแช่มชื่นรื่นเริงเป็นสุข
แต่มาไม่ช้า ครั้นความรู้สึกเป็นสุขนั้นค่อยจืดจางลงไป ความเจ็บปวดก็มาแทนที่อีก
ทั้งนี้ เพราะอะไร ? ก็เพราะไม่ถอนเอาต้นเหตุแห่งความเจ็บปวดนั้นออกเสียก่อน
วาสิฏฐี
นางเอกของเรื่องเล่าว่า ได้เห็นพระพุทธเจ้าครั้งแรกหลังจากที่ได้รอนแรมมาไกลเพื่อเฝ้าพระองค์
ณ ป่าประดู่ลาย ในเมืองโกสัมพี "เห็นพระภิกษุสูงอายุองค์หนึ่งออกมาจากป่า
ทรวดทรงผึ่งผายสมเป็นเชื้อชาติกษัตริย์ มีลักษณะสูง พระพักตร์อิ่มด้วยศานติ
ทันใดนั้น ฉันก็นึกขึ้นทันทีว่า องค์นี้กระมังหนอคือพระมุนีศากยบุตร
ซึ่งเขาขนาน พระนามว่า พระพุทธเจ้า ในพระหัตถ์กำใบประดู่ลาย ทรงหันไปทางหมู่พระภิกษุ
และตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันใบไม้ที่ เรากำไว้กับใบไม้ที่มีอยู่ในป่าโน้น
ข้างไหนจะมากกว่ากัน ?" พวกภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ใบไม้ในพระหัตถ์มีจำนวนน้อยกว่าใบไม้ที่มีอยู่ในป่าโน้น
พระเจ้าข้า"
ณ
บัดนี้ ฉันราบแล้วว่า ผู้กล่าวนั้นคือพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสต่อไปว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจริงก็เช่นนั้น สิ่งที่เราตถาคตได้เห็นแจ้งแล้ว
แต่มิได้แสดงแก่พวกท่านยังมีมากกว่าที่ได้แสดงแล้ว มีอุปมาเหมือนใบประดู่ลายที่มีอยู่ในกำมือเรา
กับที่มีอยู่ในป่าฉะนั้น, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เป็นไฉนเราจึงไม่แสดงให้ฟังทั้งหมด
? ก็เพราะไม่เป็นสาระประโยชน์เพื่อความหลุดพ้น ไม่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์
ไม่เป็นไปเพื่อความหน่ายในโลกีย์ ไม่เป็นไปเพื่อจืดจางความรักใคร่ยินดี
ไม่เป็นไปเพื่อความเย็นใจ ไม่เป็นไปเพื่อความรู้แจ้ง ไม่เป็นไปเพื่อความตื่นเต็มที่
และในที่สุดก็ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน"
แล้วพระบรมศาสดาก็ตรัสต่อไปว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สิ่งใดแล ที่เราได้แสดงแก่ท่าน สิ่งนั้น
คือความจริง เราได้แสดงแก่ท่านว่า ความทุกข์คืออะไร เหตุแห่งทุกข์คืออะไร
ความดับทุกข์คืออะไร และทางดับทุกข์คืออะไร เหล่านี้เราได้แสดงแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่เราได้แสดงแล้ว ก็เป็นอันแสดงจบแล้ว สิ่งใดเราไม่ได้แสดง
ก็คงเป็นรายย่อยแสดงอยู่ในความจริง ๔ ประการ"
พระพุทธเจ้า
ทรงชี้แจงทางพ้นทุกข์จากสังสารวัฏด้วยวิธีกำจัดภพคือความคิด กำจัดความดิ้นรนแส่อยาก
และความหลงผิดในมายาให้สิ้นแล้ว ก็บรรลุความดับรอบคือพระนิพพาน เป็นคำชี้แจงอันอัศจรรย์
นิพพานเปรียบเหมือนเป็นเกาะโดดเดี่ยว อยู่ท่ามกลางมหาสมุทรอันเดือดพล่านด้วยความเกิด
มีหน้าผาแห่งศิลา ชายเกาะนี้คือมฤตยูซัดส่าย ไม่เยือกไหว กลับกระจายตีฟองสู่ทะเลห้วงสังสารวัฏตามเดิม
ในมหาสมุทรนี้มีเรือคือพระธรรมแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า แล่นตัดไปสู่เกาะนั้นโดยปลอดอันตราย
แต่ต้องผ่ามรสุม คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ และ ที่ทรงกล่าวถึงสถานบรมสุข
นั้นมิใช่ตรัสปรัมปรา หรือจากกวีผู้ร้อยกรองตามความนึกฝันของตน แต่ทรงแสดงตามที่ได้ทรงประสบตรัสรู้มาด้วยพระองค์เอง
พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนให้กำจัดศัตรูภายใน
ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง พระองค์มิได้ทรงปลดเปลื้องความทารุณกักขฬะอย่างโน้นอย่างนี้
แต่ทรงปลดเปลื้องความทุกข์ให้หมดสิ้นเชิงเท่านั้น แล้วทรงกล่าวถึงความทุกข์ซึ่งมีอยู่ทั่วสากล
และติดตามตนไปเหมือนเงา
วาสิฏฐีได้ฟังธรรมตามนัยที่พระองค์ทรงแสดง
ว่าสิ่งทั้งปวงย่อมมาแต่เหตุ เมื่อถึงกำหนดสิ้นเหตุก็ล่วงไป อัน ความผันแปรไม่คงที่นี้คือมายา
แต่ความหลงปิดบังมิให้บุคคลเห็น เลยเป็นเหตุก่อทุกข์เดือดร้อนใจ ตราบใดความดิ้นรนเพื่อความอยากได้
ใคร่เป็นอยู่ ยังไม่ได้ถูกทิ้งถอนจนกระทั่งราก ตราบนั้นทุกข์ย่อมติดตามไปด้วยทุกข์ขณะ
บุคคลจะหนีทุกข์ไปไม่พ้น ตราบใดที่ยังปล่อยให้ความดิ้นรนนี้งอกงามอยู่เสมอ
ชวนเกิดความปรารถนาต่อหรือผัดใหม่เรื่อยไป ตราบนั้นทุกข์ก็ยังคงทับถมหนาแน่นอยู่
เมื่อบุคคลยังติดใจในความเป็นโน่นเป็นนี่อย่างไม่จืดจาง เขาย่อมชื่อว่าเป็นเครื่องมือเพิ่มกำลังความรัดรึงตนให้กระชับแน่นในสังสารวัฏ
(สังสารวัฏ=การเวียนว่ายตายเกิด) ยิ่งจมดิ่งในความทุกข์ลงไปทุกที ไม่มีทางโผล่พ้นขึ้นมาได้
และยังได้ฟังที่พระองค์ตรัสเทศนาถึงความไม่คงที่แห่งบรรดาสิ่งที่มีความเกิด
ตรัสถึงความดับไปแห่งสิ่งทั้ง ปวงที่ธรรมชาติปรุงแต่งขึ้น ตรัสถึงลักษณะความล่วงไปเรื่อย
เป็นกระแสน้ำแห่งบรรดารูปและนาม สรรพสังขารธรรมล้วนเป็นของไม่คงที่
เลือกเอาอย่างใจไม่ได้ทั้งนั้น แล้วทรงแสดงให้เห็นว่า ความปรารถนาเพื่อเกิดในภพใหม่ใด
ๆ ภพ นั้น ๆ ย่อมไม่ถาวร คงที่อยู่ไม่ได้เลย
ในตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้
กล่าวถึงห้วงเวลาที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า "ช่องว่างน้อย
ๆ ในป่ารัง มีพระภิกษุราว ๒๐๐ องค์ยืนเฝ้าอยู่เป็นรูปอัฒจันทร์ ณ ท่ามกลางที่นี้มีต้นรังจนาดใหญ่
๒ ต้นกำลังออกดอกเป็นกลุ่มก้อนขาวไสว ระวางควงต้นไม้รังทั้งคู่นี้
เห็นพระพุทธเจ้าประทับบรรทมบนพระแท่น ซึ่งปูลาดด้วยผ้าสีเหลือง มีพระหัตถ์ขวาหนุนพระเศียร
ดอกรังก็โปรยเกสรเป็นละอองลงมาอาบพระองค์
ด้านพระปฤษฎางค์ถัดไปไกล
คือเขาหิมพานต์ มีหิมะปกคลุมเป็นนิจนิรันดร์ แต่บัดนี้ถูกความมืดเข้าปกคลุมพระพุทธเจ้า
ตรัสกะพระอานนท์ก่อนกว่าผู้อื่นทั้งหมด เพราะท่านมายืนเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์แล้วว่า
"ดูก่อน อานนท์ เรารู้ได้ดีว่าท่านร้องไห้โศกเศร้าถึงเรา และท่านคงคิดอยู่ว่า
ท่านยังไม่สิ้นอาสวะกิเลส ยังไม่บรรลุความเห็นแจ้ง ดูก่อนอานนท์ ท่านจงเลิกคิดอย่างนั้นเสียเถิด
จงอย่าปริเทวนาการ จงอย่าโศกเศร้า ดูก่อนอานนท์ เราได้บอกแก่ท่านแล้วมิใช่หรือว่า
บรรดาสิ่งทั้งปวงที่ยึดถือ รักใคร่ ย่อมมีอันต้องจากไป ธรรมดาย่อมเป็นธรรมดาของมันกระนั้น
สิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นเองโดยสภาวธรรม เราไม่ได้จัดการให้เกิดขึ้นแต่ชอบออกรับว่าเป็นของเรา
สิ่งนั้น ๆ ย่อมมีอาการแปรไป ตามธรรมดาวิสัย เราจะดิ้นรนให้เป็นอย่างใจเราคิดไม่ได้
นอกจากออกรับเอาเป็นของเราเปล่า ๆ และในที่สุดมันก็ต้องล่วงลับไปด้วยอำนาจแห่งธรรมดา
เราจะฝืนให้คงอยู่ไม่สำเร็จเลย จะได้ก็แต่ความคลั่งเพ้อออกมารับเอาเสียเต็มแปล้
นับประสาอะไร ตัวท่านเองก็อย่าทะนง ย่อมตกอยู่ในอำนาจธรรมดาที่จะบันดาลให้เป็นอย่างไรได้ทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหลายจึงเป็นอนัตตา คือเลือกไม่ได้ ไม่สำเร็จด้วยเอาสักอย่างเดียว
มันเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป มันรวมกันแล้ว ย่อมจากไป ปรุงมันขึ้น มันก็แตกสลายไป,
ดูก่อนอานนท์ ท่านได้ปฏิบัติเรามานานด้วยความเต็มใจ จงรักภักดีในเรา
ไม่มีอิดเอื้อนท้อถอย ชื่อว่าได้พยายามดีแล้ว จงใช้ความพยายามอันสม่ำเสมอนั้นมาในทางบำเพ็ญเพียร
ในไม่ช้าท่านจะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะดำกฤษณา ทิฏฐิความเห็นผิด และอวิชชาความไม่รู้แจ้ง
เห็นผิดเป็นมายา"
พระพุทธเจ้าตรัสเฉพาะพระอานนท์แล้ว
ก็ทรงทอดทัศนาการมายังเหล่าสาวกที่ยืนเฝ้าอยู่เป็นวง แล้วตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย
บางทีท่านทั้งหลายจะนึกว่า พวกเรานั้นขาดศาสดาเสียแล้ว พระศาสดาไม่มีอีกต่อไปแล้ว,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านอย่าพึงคิดอย่างนั้น "ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใด
ที่เราได้แสดงไว้แล้ว บัญญัติไว้แล้วแก่ท่านทั้งหลาย, ธรรมะและวินัยนั้นแล
จักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลายโดยกาลเป็นที่ล่วงไปแห่งเรา" เพราะฉะนั้น
ท่านอย่าพึงยึดถือเอาสิ่งภายนอกเป็นที่พึ่ง จงถือเอาพระธรรมเป็นที่พึ่งให้มั่น
พระธรรมนั้นจะเป็นความสว่างแก่ท่านเอง จะเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง"
ล่วงมาอีกสักครู่
พระองค์ตรัสอีกว่า "ภิกษุทั้งหลาย บางทีจะมีบางท่านที่เกิดความสงสัยขึ้นในส่วนศาสดา
หรือ ในส่วนพระธรรม ท่านจงถามเสียให้สิ้นระแวงเถิด เพื่อไปภายหน้าท่านจะได้ไม่โทษตนเองว่า
เมื่อพระศาสดายังทรงมีชีวิตอยู่ ก็มิได้ไตร่ถามอะไรไว้" แต่ก็ไม่มีใครทูลไตร่ถามเพราะพระภิกษุที่มาประชุมในที่นั้นล้วนเป็นอรหันต์
หมดสิ้นความสงสัยในพระธรรมวินัยแล้ว
พระพุทธเจ้าเสด็จไสยาสน์อยู่ที่นั้น
มีแสงเดือนในวันเพ็ญเดือน ๖ สีเหลืองอ่อนมาทั่วพระวรกาย ประหนึ่งว่า
เทพบุตรกำลังเตรียมการสนานพระสรีรกายในครั้งสุดท้าย กล่าวคือโปรยละอองเกสรดอกไม้ลงมา
พระองค์เผยพระโอษฐ์อีกครั้งหนึ่ง เป็นพระปัจฉิมวาจาที่จารึกไว้แก่สังสารโลก
เป็นพระสัจธรรมอันล้ำเลิศว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราผู้ตถาคตขอเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ว่า
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อม ความฉิบหายไป เป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นให้ถึงพร้อมบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด"
ปัจฉิมโอวาทนี้มีชื่อเรียกว่า "อัปปมาทธรรม""
ครั้นพระพุทธองค์ตรัสปัจฉิมโอวาทแล้ว
มิได้ตรัสอะไรอีกเลย สิ้นพระดำรัส สิ้นพระสุรเสียง หับพระโอษฐ์ หลับพระเนตรลง
พระอัสสาสะประสาท ซึ่งเคยระบายอยู่ตาม ธรรมดาได้ค่อย ๆ แผ่วเบาลง ๆ
ทุกที แล้วก็สิ้นกระแสลม โดยพระอาการอันสงบ พระภิกษุองค์หนึ่งประกาศว่า
พระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
อนิจจา...! แสงเดือนเพ็ญผ่องกระจ่างจับพระพักตร์อยู่เมื่อกี้ก็จางซีดขมุกขมัวลง
ท้องฟ้าสลัวมัวพยับครื้ม อากาศเย็นเฉียบจับหัวใจ น้ำค้างหยดเผาะ ๆ
เป็นหยาดน้ำตาแห่งแห่งสวรรค์ เกษรดอกรังร่วงพรู เป็นสายสหัสธาราสรงสนานพระพุทธสรีระ
จักจั่นเรไรสงัดเงียบ ดูไม่มีแก่ใจที่จะทำเสียง ธรรมชาติรอบข้างต่างสลดหมดความคะนองทุกสิ่งทุกอย่าง....!
|