บทความพิเศษ : ชุมชนพุทธบริษัทคุณค่าต่อสังคมไทย

             ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พุทธศาสนาขยายหรือหดตัวเนื่องด้วยบุคคล ๒ กลุ่มคือสงฆ์(นักบวช)และคฤหัสถ์(อุบาสก อุบาสิกา) การมีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาในสมัยพุทธกาล หรือมีพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้าในสมัยต่อๆมา หาใช่ปัจจัยเดี่ยวที่จะทำให้พุทธศาสนารุ่งเรืองหรือร่วงโรยได้ เราจึงพบได้ว่าช่วงที่พระบรมศาสดาทรงพระชนม์อยู่ ทรงให้อำนาจแก่สงฆ์ในการเผยแผ่พุทธธรรม ส่วนสังฆกรรมต่างๆ พระองค์ยกให้สงฆ์เป็นใหญ่และมีความสำคัญแทนพระองค์ ดังเช่นทรงแนะนำผู้ที่จะถวายทานแก่พระองค์ ให้ไปถวายแก่สงฆ์แทน หรือกรณีที่ทรงตั้งคณะสงฆ์วินิจฉัยอธิกรณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากปัญหาภายในคณะสงฆ์เอง หรือเรื่องราวที่ถูกร้องเรียนจากบุคคลภายนอก

             อย่างไรเสีย การดำรงชีวิตอยู่อย่างผาสุกหรือทำหน้าที่ได้เหมาะสมในฐานะสงฆ์ จะแยกส่วนจากคฤหัสถ์ มิได้ เพราะหากมองในภาพกว้าง คฤหัสถ์ไม่ได้มีหน้าที่อุปถัมภ์สงฆ์ด้วยวัตถุเท่านั้น แต่ยังเป็นพลังสำคัญที่ควบคุมให้สงฆ์ดำรงตนในกรอบพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดด้วย

             ส่วนคฤหัสถ์ก็มีโอกาสที่จะได้รับฟังหลักธรรมเพื่อการดำรงชีพที่ถูกต้องเป็นสิ่งตอบแทนอย่างเท่าเทียม หากบางยุคสมัย สงฆ์เองก็ให้การช่วยเหลือด้วยวัตถุต่างๆนอกเหนือจากหลักธรรมด้วยซ้ำไป

             จะเห็นได้ว่าพลังของพุทธบริษัทที่จะรักษาสืบทอดอุดมคติและเป้าหมายสูงสุดหนึ่งเดียวทางพุทธศาสนาให้ดำรงต่อไปอย่างมั่นคง ยัง ได้สร้างแรงต่อรองถึงการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าด้วย ดังที่ทรงตั้งพระทัยว่า หากพุทธบริษัทไม่แตกฉานในพระสัทธรรม ไม่อาจปฏิบัติจนสัมผัสวิมุตติธรรม เผยแผ่แนะนำพุทธธรรมแก่ผู้อื่นหรือปกป้องพุทธธรรมจากการกล่าวจ้วงของผู้อื่นได้ ก็จะไม่เสด็จดับขันธปรินิพพาน หรือที่ทรงย้ำว่าพุทธบริษัทคือเสาค้ำพุทธศาสนา สามารถกำหนดความเจริญหรือเสื่อมของพุทธศาสนาได้ เนื่องจากพุทธศาสนาจะเสื่อมและไม่เกิดประโยชน์แก่ยุคสมัยก็ต่อเมื่อพุทธบริษัทไม่ยำเกรงในพระรัตนตรัย ในสิกขาและในสมาธินั่นเอง ในเมื่อพุทธ-บริษัทยังไม่ใยดีที่จะศึกษาเรียนรู้ ฝึกฝนปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอน จะป่วยการกล่าวไปใยต่อบุคคลต่างศาสนาเล่า

             อาจกล่าวได้ว่า ชุมชนพุทธบริษัทตั้งแต่พุทธกาล อาศัยความเมตตากรุณาเกื้อกูลกันด้วยจิตใจที่งดงามอย่างยิ่ง แม้จะดูเหมือนว่าสงฆ์ (ภิกษุ)กับบริษัทที่เหลือจะแยกกันอยู่ก็ตาม(วัดกับบ้าน) แต่สายสัมพันธ์ที่มั่นคงคือพระไปบิณฑบาตหรือแสดงธรรมโปรดโยม โยมใส่บาตรหรือมาช่วยงานที่วัด เข้าทำนองที่ว่า “ฝากบุญไว้ที่พระ ฝากธรรมะไว้ที่โยม” ความสัมพันธ์ระนาบนี้ถือว่าเป็นจุดแข็งของพุทธศาสนา เพราะเข้าถึงคนระดับรากหญ้าและค่อนข้างมั่นคง แม้รัฐหรือสถาบันกษัตริย์จะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอย่างสำคัญ แต่ก็จัดอยู่เป็นฝ่ายคฤหัสถ์เท่านั้น ไม่ได้แยกออกมาเป็นสถาบันที่ส่งผลกระทบต่อสงฆ์มากนัก ต่างกับปัจจุบันที่พุทธศาสนามีความสัมพันธ์แบบ ๓ เส้า คือ สงฆ์ ประชาชน รัฐ ทำให้อำนาจอันเท่าเทียมกันในฐานะพุทธบริษัท ถูกแบ่งระดับใหม่โดยมีฐานันดรเป็นแกน ซึ่งเป็นทั้งผลดีและเสียต่อการสืบทอดพุทธศาสนา

             ยิ่งเมื่ออำนาจสงฆ์ถูกดึงเข้าสู่ส่วนกลางภายใต้การควบคุมค่อนข้างเบ็ดเสร็จของรัฐมากเพียงใด ความสัมพันธ์ในชุมชนพุทธบริษัทก็ถูกทำให้เกิดความแตกแยกมากเท่านั้น พุทธบริษัท เช่น พระ จะเริ่มเข้าข้างคนรวย มีอคติปฏิบัติไม่เสมอภาคระหว่างคนที่รวยมีตำแหน่งยศสูงและคนจนไร้ตำแหน่ง ฝ่ายอุบาสกอุบาสิกาก็สมาทานความเชื่อผิดๆนอกพระธรรมวินัย เห็นคุณค่าเศรษฐกิจทางวัตถุมากกว่าจิตใจ เชื่อคนรวยมากกว่าที่จะเชื่อคนดี ในขณะที่วัดเริ่มกลายเป็นของเจ้าอาวาสหรือกรรมการวัด มากกว่าที่จะเป็นของสงฆ์และพุทธบริษัทที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบๆวัดเหมือนแต่ก่อน หนทางหนึ่งที่จะทำให้ความเป็นชุมชนพุทธบริษัทเป็นไปตามเจตนารมณ์การจัดตั้งชุมชนสังฆะยิ่งขึ้นนั่นคือ การให้ชุมชนเป็นผู้เลือกเจ้าอาวาสหรือเลือกพระที่จะมาอยู่ในการอุปถัมภ์คุ้มครอง แต่ทั้งนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับว่าชุมชนและพระต้องยึดหลักศีลธรรมและพระธรรมวินัยเป็นมาตรฐานในกิจดังกล่าวด้วย มิใช่เพราะชาตินิยมหรือภูมิภาคนิยม เพราะความเป็นจริงที่เรามักลืมไปก็คือ พระเป็นเพียงผู้ดูแลวัดแทนชาวบ้าน หรืออาศัยวัดชาวบ้านพักเท่านั้น เมื่อถึงฤดูกาลเหมาะสม ท่านก็จะจาริกโปรดชาวบ้านเรื่อยไป ไม่เจาะจงว่าต้องอยู่ที่ใดที่หนึ่งอย่างถาวร ดังนั้น ในบางท้องถิ่น เช่นภาคอีสาน จึงมีประเพณีนิมนต์พระที่จำพรรษาหรือรับกฐินเสร็จให้กลับมาจำพรรษาอีก แต่ประเพณีนี้ก็เริ่มสูญหายไปเช่นกัน อันเนื่องมาจากการที่รัฐปกครองสงฆ์ ตั้งพระเป็นเจ้าอาวาสเลียนแบบการปกครองฝ่ายรัฐ และดึงอำนาจการควบคุมวัดจากชุมชนมาเป็นของรัฐมากเกินไป

             การไม่มีความเป็นธรรมในการเป็นหุ้นส่วนระหว่างพุทธบริษัทก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ขาดการเอาใจใส่และให้ความสำคัญมายาวนาน นั่นก็คือการเปิดโอกาสให้กับสามเณรร่วมคิดร่วมทำในกิจของสังฆะ แม้สามเณรจะไม่ได้ปรากฏอยู่ในฐานะพุทธบริษัทก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นเหล่ากอของสมณะและจะเป็นสมาชิกสังฆะในอนาคต ยิ่งกว่านั้นสามเณรยังถูกกระทำให้เป็นบุคคลชั้นสองทั้งในมุมมองของพระหรือแม้แต่ของชาวบ้าน ชาวบ้านมักไม่นิยมนิมนต์สามเณรในงานพิธีต่างๆ เพราะเชื่อว่านิมนต์เณรได้บุญน้อยกว่านิมนต์พระ ในแวดวงพระเองก็มักไม่ค่อยเปิดโอกาสให้สามเณรได้ทำงานหรือแสดงออกในกิจต่างๆมากนัก เพราะเข้าใจไปว่าสามเณรอายุน้อย อาจจะทำไม่ได้ดีเท่าพระ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะอคติส่วนตัว ที่ตนเองเมื่อสมัยเป็นสามเณรก็ไม่เคยทำกิจกรรมใดๆ พอสามเณรรุ่นใหม่ริเริ่มทำอะไรใหม่ๆบ้างจึงรู้สึกแปลกใจและไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจ

             เราจึงมักไม่เแปลกใจที่ทำไมสามเณรจึงยังอยู่ชายขอบและไม่กล้าแสดงออกเหมือนเยาวชนในแวดวงหรือศาสนาอื่นๆ ซึ่งประเด็นนี้ สามเณรชาตรี ศรีจันทร์ รองประธานสามเณรสำนักเรียนบาลีวัดสร้อยทอง บางซื่อ กรุงเทพฯ ได้สะท้อนว่า “ผมเห็นว่า การที่สามเณรไม่กล้าแสดงออก เพราะขาดพื้นที่และโอกาส พร้อมทั้งปัจจัยสนับสนุนด้านอื่นๆ อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะมุมมองสงฆ์กับความเข้าใจต่อบทบาทของสามเณรสมัยใหม่ ส่วนกิจกรรมที่ต้องทำร่วมกันในเวทีเยาวชนต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนาหรือประเด็นอื่นๆ ผมคิดว่าสามเณรทำได้ แต่ควรมีการประสานงานกันให้ชัดเจนมากกว่าที่ทำกันอยู่นี้ ไม่งั้นแล้ว สามเณรก็คงไปไม่ถึงไหนเหมือนที่เคยเป็นมา”

             การเปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิงโดยเฉพาะแม่ชี ก็เป็นประเด็นร้อนมายาวนาน และยังไม่เป็นที่สรุปว่าจะมีการปฏิบัติระหว่างกันในฐานะนักบวชอย่างไร แต่นั่นก็เป็นเรื่องวัตรปฏิบัติเท่านั้น ซึ่งมักจะขึ้นอยู่กับความเชื่อและประเพณีท้องถิ่นเป็นหลัก ทั้งนี้หาใช่ว่าแม่ชีไม่ได้มีพัฒนาการแต่อย่างใด เพราะเมื่อมองถึงกิจกรรมด้านการพัฒนาและการเข้าถึงชุมชนแล้ว ผลงานแม่ชีก็มีปรากฏชัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเพื่อสังคมดังกรณีสำนักเสถียรธรรมสถาน การจัดการศึกษาของมหาปชาบดีเถรีวิทยาลัยนครราชสีมา หรือการให้การสงเคราะห์แบบต่างๆแห่งสถาบันแม่ชีไทยสุรินทร์หรือที่อำเภอปากท่อจังหวัดราชบุรี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลที่ปรากฏก็ยังคงเป็นการทำงานแบบแยกส่วน

             ใครทำอะไรได้ก็ทำไปและมีผลงานเป็นของตัวเอง แต่เมื่อมองดูภาพรวมแล้ว ทำให้เห็นว่าการประสานร่วมมือระหว่างพุทธบริษัทอย่างแท้จริงยังคงบกพร่องอยู่ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่พุทธบริษัททั้งปวงจะได้ช่วยกันหาคำตอบในฐานะส่วนหนึ่งของพุทธบริษัทในบริบทสังคมสมัยใหม่ หาไม่แล้วชุมชนพุทธบริษัทอาจล่มสลาย กลายเป็นปัจเจกบริษัทนิยมได้

******************