เมื่อเอ่ยถึงวัดก็ต้องยอมรับว่า
วัดมีบทบาทและอิทธิพลต่อชุมชนและชาวบ้านมาตั้งแต่อดีต จะเห็นได้ว่าวัดไม่ใช่แค่มีบทบาทในการสั่งสอนอบรม
และเป็นสถานที่ให้คนได้ทำกิจกรรมเพื่อความดีเท่านั้น แต่วัดยังเป็นทั้งโรงเรียน
เป็นสถานที่ปกครองหรือแลกเปลี่ยนข่าวสารในชุมชน รวมถึงเป็นโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วย
จะเห็นว่าทุกวันนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งที่ยังตั้งอยู่ในวัด หรือมีชื่อวัดติดอยู่
จากรากฐานของสังคมไทยเช่นนี้
ก็ไปสอดคล้องกับแนวความคิดของมูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา ในอันที่จะผลักดันสถานพยาบาล
หรือโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยให้เกิดขึ้นในทุกๆ ชุมชน เพื่อช่วยลดภาระความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย
ที่ต้องจมอยู่ที่บ้านและขาดการดูแลรักษาที่ถูกวิธีจากแพทย์ พยาบาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเรื้อรัง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่เกิดจากอุบัติเหตุบ้าง
เกิดจากหลอดเลือดตีบตันบ้าง อาการของโรคต่างๆ เหล่านี้เป็นปัญหาในการดำเนินชีวิตของประชาชน
เพราะเป็นเครื่องบั่นทอนจิตใจและสุขภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเขาควรได้รับการฟื้นฟูสภาพในสถานที่ที่อยู่ใกล้บ้าน
มีผู้คอยให้คำแนะนำอย่างถูกต้อง แม้ว่าโรงพยาบาลในระดับชุมชนระดับอำเภอจะมีอยู่ทุกแห่งก็ตามแต่
ก็ยังไม่สามารถให้บริการทั่วถึงและเข้าถึงจิตใจที่หดหู่ของผู้ป่วย
ผู้พิการเหล่านี้ได้ แถมระยะการเดินทางของบางคนยังไกลจนกลายเป็นอุปสรรคด้วยซ้ำ
ซึ่งจุดนี้นับเป็นความปรารถนาของมูลนิธิอย่างยิ่ง เพราะเห็นแล้วว่าการแพทย์แผนไทยนั้น
ความจริงแล้วก็อยู่ในชีวิตรากฐานของคนไทยทุกคนอยู่แล้ว เพียงแต่ช่วยส่งเสริมให้ชัดเจนและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม
จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งแก่ประชาชน ทั้งเรื่องการนวดไทย การอบประคบ
การแช่น้ำสมุนไพร การใช้ยาหม่องน้ำมันนวด การใช้ยาสมุนไพรไทย เพราะมียาตำรับหลายชนิดที่ดีๆ
น่าจะนำมาใช้ในชุมชน รวมถึงส่งเสริมการวิจัยการนำไปใช้
เมื่อเกิดแนวความคิดดังกล่าวขึ้น
ก็มองหาสถานที่เพื่อทำโครงการนำร่อง ก็ไปลงตัวที่วัดทุ่งบ่อแป้น
จังหวัดลำปาง ซึ่งท่านเจ้าอาวาสพระปลัดวินัย ปโชโต ท่านได้ทำกิจกรรมดังกล่าวอยู่แล้วที่วัด
เป็นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยอัมพฤกษ์-อัมพาตและปฏิบัติธรรมวัดทุ่งบ่อแป้น
ซึ่งมีกระบวนการดูแลรักษา เริ่มตั้งแต่หลักการดูแลสภาพจิตใจของผู้ป่วย
แล้วมาสู่ขั้นตอนการดูแลร่างกาย โดยมีการนำใบพลับพลึงมาย่างไฟให้ร้อนแล้วนำไปประคบนวดตามร่างกาย
มีการนวดไทย มีการอบประคบ การแช่น้ำสมุนไพร และขั้นตอนที่เรียกว่า
"ธาราบำบัด" เป็นต้น วันหนึ่งทีมงานมูลนิธิการแพทย์แผนไทยมีโอกาสได้ต้อนรับพระปลัดวินัย
ปโชโต ที่มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา จึงได้คุยกันถึงแนวคิดในเรื่องการฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยและผู้พิการ
ก็หารือถึงแนวทางในการผลักดันจัดตั้งให้เป็นโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยขึ้น
และให้มีหมอเวชกรรมเป็นผู้ตรวจรักษา และจะประกอบด้วยส่วนของโอพีดี
ตรวจรักษาและตั้งยาคูณธาตุโดยใช้ยาสมุนไพรในท้องถิ่น ส่วนของสวนสมุนไพรปลูกและแปรรูปมีโรงงานผลิตยาไทยเกิดขึ้น
และส่วนของบริการนวดไทย อบประคบ แช่สมุนไพร สิ่งที่เราทำร่วมกันนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
และมูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนาจะให้เงินลงทุนสนับสนุน ซึ่งปรากฏว่าหลังจากที่เราคุยหารือกันได้ไม่นาน
ท่านเจ้าอาวาสก็ซื้อที่ข้างวัดเพิ่ม 45 ไร่เพื่อทำโรงพยาบาล หมอไปเห็นก็ตกใจมากว่าท่านทำงานได้รวดเร็ว
เพราะตัวหมอเองก็เป็นคนที่ทำงานรวดเร็วแล้ว พอมาเจองานของท่านก็แปลกใจมาก
ก็เรียนถามท่านว่ามีเงินแล้วหรือจึงสามารถซื้อที่ดินเพื่อเตรียมสร้างอาคารแล้ว
ท่านบอกว่ามีเงินแค่ 1 ล้านบาทเอง แต่ทุกครั้งก็ใช้วิธีแบบนี้จึงทำให้งานเกิดขึ้น
และยังบอกว่าราวเดือนเมษายน 2548 ก็จะวางศิลาฤกษ์ได้ หมอก็เชื่อมั่นว่าท่านสามารถทำได้แน่นอน
จากความตั้งใจของมูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา บวกรวมกับบารมีของพระและแรงศรัทธาของชาวบ้าน
ก็ย่อมส่งผลให้เกิดโรงพยาบาลได้แน่นอน
สำหรับตัวหมอเองก็ขอส่งแรงใจให้งานเกิด
และตั้งใจเอาไว้ว่าก่อนลาโลกในชีวิตนี้ ขอทำโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยที่สมบูรณ์แบบให้เกิดสัก
4 แห่ง 4 ภาค คงลาโลกอย่างมีความสุขยิ่ง
และในโอกาสนี้ก็ขอเชิญชวนผ่านสื่อ
ขอชวนทุกท่านไปเที่ยวที่จังหวัดลำปางและอย่าลืมไปเยี่ยมชมกิจกรรมของวัดทุ่งบ่อแป้น
และสร้างกุศลร่วมกันโดยสร้างโรงพยาบาลเพื่อผู้ทุกข์ยากลำเค็ญได้ที่
ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพอัมพฤกษ์-อัมพาต วัดทุ่งบ่อแป้น ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร
จ.ลำปาง โทรศัพท์ 0-5436-7505, 0-1882-6002 โทรสาร 0-5436-6711 หลังจากโรงพยาบาลแห่งนี้เกิดขึ้นเป็นรูปร่างในอนาคต
ก็สามารถจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมการแพทย์แผนไทยขึ้นเพื่อสอนการแพทย์แผนไทย
และหวังว่าในโอกาสไม่นานข้างหน้านี้ มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนาร่วมกับพี่น้องชาวลำปาง
จะสามารถจัดมหกรรมการแพทย์แผนไทยขึ้นที่เมืองลำปางสักครั้ง
นอกจากที่วัดทุ่งบ่อแป้นแล้ว
ยังมีสถานที่ผลิตยาสมุนไพรอีกแห่งที่น่าสนใจคือ ชมรมรักษ์สมุนไพรลำปาง
ที่มีอาจารย์มานพ ประโลมรัมย์ กับภรรยา บุกเบิกมาหลายปีจนมีชื่อเสียงเป็นที่มั่นใจในคุณภาพ
ทางวัดก็สามารถเชื่อมโยงการทำงานร้อยเรียงเป็นทีมงานเดียวกัน จะได้ไม่เกิดการแข่งขันกัน
แต่ให้พัฒนากิจกรรมที่เชื่อมโยงช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก็จะส่งผลให้ชาวลำปางมีอาชีพปลูกและแปรรูปสมุนไพรอย่างครบวงจรต่อไป
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์
12 ธ.ค.47
|