ทำบุญล้างบาปได้จริงหรือ ?

               เรื่องพระศาสดากับสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ผู้อาบน้ำเพื่อล้างบาป
               พระศาสดาประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระนครสาวัตถี ณที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในครานั้น ภิกษุทั้งหลายทูลรับคำพระศาสดา นิ่งสดับฟังพระองค์อยู่อย่างสงบ
               พระศาสดาจึงตรัสว่า ผ้าที่เปรอะเปื้อน มีมลทิน แล้วนายช่างย้อมผ้า นำผ้าที่เปรอะเปื้อนนั้นลงไปย้อมในสีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สี เขียว สีแดง สีชมพู สีเหลือง ผ้านั้นก็ยังเป็นสีที่ย้อมออกมาแล้วดูไม่ดีอย่างนั้นเอง ยังมัวหมองอยู่ เพราะเหตุใดหรือ เพราะผ้าที่นำมาย้อมไม่บริสุทธิ์ ฉันใดฉันนั้น เมื่อจิตเศร้าหมองเสียแล้ว จะทำอะไร ก็มีทุคติเป็นที่หวังได้ (จิตนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่าโดยปกติเป็นประภัสสร เพราะปฏิสนธิจิต และ ภวังคจิตแต่เดิมเป็นจิตที่สะอาด แต่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรมา) แต่ผ้าขาวบริสุทธิ์ ไม่มีมลทิน แล้วนายช่างย้อมผ้า นำผ้านั้นลงไปย้อมในสีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สี เขียว สีแดง สีชมพู สีเหลือง ผ้านั้นได้สีที่ย้อมออกมาแล้ว ดูดีสีสด เพราะเหตุใดหรือ เพราะผ้าที่นำมาย้อมนั้นบริสุทธิ์ ฉันใดฉันนั้น เมื่อจิตไม่เศร้าหมองเสียแล้ว จะทำอะไร ก็มีสุคติเป็นที่หวังได้
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเหล่าใดเล่าที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ธรรมเหล่านั้นคืออุปกิเลส 16 ประการ กล่าวคือ
               อภิชฌาวิสมโลภะ (อภิชฌา การเพ่งเล็งอยากได้ในของของตนหรือของคนอื่นที่ถูกต้องอยู่ในฐานะ แต่วิสมโลภะเป็นการเพ่งเล็งอยากได้ในของของผู้อื่น ซึ่งไม่อยู่ในฐานะที่ถูกที่ควร แต่ทั้งสองอย่างไม่ว่าจะเหมาะหรือไม่เหมาะก็ทำให้จิตใจไม่ผ่องใสทั้งนั้น) พยาบาท โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ (ปฬาสะ) อิสสา มัจเฉร (มัจฉริยะ) มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อรู้ชัดแล้วว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ฉะนั้นจงละ อภิชฌาวิสมโลภะ พยาบาท โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจเฉร มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ เสีย เมื่อละได้แล้วเธอผู้ซึ่งแน่วแน่ในพระพุทธเจ้า ย่อมรู้แจ้งอรรถและธรรม ย่อมเกิดปีติในใจ กายย่อมสงบ เมื่อกายสงบ ย่อมได้เสวยสุข เมื่อเสวยสุขจิตจะตั้งมั่น
               [การละมีอยู่2อย่างคือ ละตามลำดับของกิเลส และ ตามลำดับมรรค ว่าแต่จะเอามรรคหรือกิเลสขึ้นก่อน จากคำอธิบายนี้ เป็นการ เรียงตามลำดับกิเลส
               กิเลส 6 คือ อภิชฌาวิสมโลภะ (เพ่งเล็งอยากได้) ถัมภะ (หัวดื้อ) สารัมภะ (แข่งดี ตีเทียบ) มานะ (ถือตัว) อติมานะ (ดูหมิ่น) มทะ (มัวเมา) ละได้ด้วย อรหัตตมรรค
               กิเลส 4 คือ พยาบาท โกธะ อุปนาหะ ปมาทะ ละได้ด้วย อนาคามิมรรค
               กิเลส 6 คือ มักขะ (ลบหลู่คุณ) ปลาสะ (ตีเสมอ) อิสสา (ริษยา) มัจเฉร(ตระหนี่) มายา (เจ้าเล่ห์ ปกปิด) สาเถยยะ (โอ้อวด) ละได้ด้วย โสดาปัตติมรรค]
               ภิกษุที่ประกอบด้วยพรหมวิหารทั้ง 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา แผ่ไปยังทิศทั้ง 4 แผ่ไปยังเบื้องบน และล่าง ทั่วโลกทั้งสิ้น โดยหวังประโยชน์แก่สัตว์ทั่วหน้า เธอจะได้เห็นว่า สิ่งประณีตมีอยู่ เลวทรามมีอยู่ ธรรมที่จะสลัดออกจากสัญญา สลัดจากอวิชชา และอาสวะ นี้มีอยู่ เมื่อหลุดพ้นจาก สัญญา อวิชชา และ อาสวะแล้ว จะรู้ได้ว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำนั้นเสร็จแล้ว (บรรลุอรหัตผล) อย่างนั้นแล เรากล่าวว่าเป็นผู้ชำระกายภายในให้หมดจด
               ก็ในคราวหนึ่ง สุนทริกภารทวาชพราหมณ์นั่งอยู่ใกล้พระศาสดา ทูลถามพระศาสดาว่า พระองค์จะไม่ทรงเสด็จไปแม่น้ำพาหุกา เพื่อสรงสนานดอกหรือพระศาสดา ตรัสว่า ดูก่อนสุนทริกะ ประโยชน์อันใดเล่าที่จะให้เราได้จากการไปสรงสนานที่แม่น้ำพาหุกา พระโคดมผู้เจริญ แม่น้ำพาหุกานี้ คนทั้งหลายยอมรับกันว่าเป็นบุญ หากได้ไปอาบน้ำชำระร่างกาย ก็จะเป็นการลอยบาปให้พ้นไป ดูก่อนสุนทริกะ คนพาลที่ทำบาป มีกรรม ไม่ว่าจะไปยังแม่น้ำ พาหุกา อธิกักกะ คยา สุนทริกา สรัสสดี ปยาคะ พาหุมดี เพื่ออาบน้ำเป็นนิตย์ ก็ทำให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย แต่บุคคลผู้มีศีล มีวัตรงาม มีการงานอันสะอาด ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ต่างหาก
               ดูก่อนสุนทริกะ จงมาอาบน้ำในศาสนาของเราเถิด หากท่านเป็นผู้มีศีล ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ตระหนี่ ฯ แล้ว ท่านยังจะต้องไปอาบน้ำที่แม่น้ำทำไมเล่า อย่าว่าแต่อาบเลยแม้ดื่มก็ยังช่วยให้ท่านบริสุทธิ์ไม่ได้ เมื่อได้ยินดังนั้น สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือ จุดโคมไฟให้ที่มืด ด้วยหวังผู้ที่มีดวงตาจะได้เห็นดังนี้
               ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขอพระองค์ได้ทรงโปรดจำข้าพเจ้าไว้เถิดว่า ข้าพเจ้าเป็นอุบาสกผู้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก ขอให้ข้าพระองค์ได้บรรพชาในสำนักของพระองค์เถิด ต่อมาหลังจากอุปสมบทไม่นาน พระภารทวาชะ ก็ได้บรรลุอรหัตตผล

(**พระสุตตันตปิฏก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)


***********************

ขอบพระคุณ.- บ้านพระดอทคอม และ วัดเกาะ ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล

วัดท่าไทร
สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้(สุราษฎร์ธานี)
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์ประสานงานสมาคมป้องกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี