สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ต้นแบบนักสังคมสงเคราะห์ชาวโลก

โดย... ชำนาญ วงค์ศรี
*****************


                 มนุษย์ทุกคนที่ลืมตามาดูโลกและดำเนินชีวิตอยู่ทุกวันนี้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและด้อยคุณภาพ
คละเคล้ากันไป บางคนยบำเพ็ญแต่ความดีงามมีจิตใจที่งดงามบริสุทธิ์ บางคนทำแต่กรรมชั่วจิตใจหมองเศร้า บางคนก็ทำกรรมทั้งสองอย่าง ดังนั้น ในโลกนี้จึงมีทั้งคนดีและคนไม่ดี
วงการไหน ๆ ก็ตามย่อมมีบุคคลเหล่านี้อยู่ทุกวงการ แม้กระทั่งวงการพระสงฆ์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็มีทั้งพระที่ดีมีวัตรปฏิบัติที่งดงามและพระที่ประพฤติทำผิดวินัยเป็นอาจิณ และ พระที่ทำผิดส่วนใหญ่จะเป็นเพียง กลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น เมื่อเทียบกับพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอีกนับแสนรูป
                 สังคมสงฆ์ดูเหมือนจะเป็นสังคมที่มีผู้คนให้การยอมรับมากที่สุดแต่บทบาทพระสงฆ์จะช่วยสังคมในปัจจุบันนั้น เริ่มลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับสมัยอดีตที่ผ่านมาทั้งๆ ที่พระสงฆ์เคยโดยเด่นในหลายๆ ด้าน ทั้งเป็นผู้นำจิตวิญญาณ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน เป็นศูนย์รวมแห่งศิลปวิทยา ศูนย์รวมแห่งวัฒนธรรมประเพณี ฯลฯ
                 หลายคนอาจมองว่าพระสงฆ์ต้องปฏิบัติธรรมอยู่ในวัด ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับสังคมภายนอก บางคนก็เห็นพระสงฆ์ ทำกิจวัตรประจำวัน บิณฑบาต สวดมนต์ ทำพิธีกรรมเท่านั้น ไม่มองให้ลึกซึ้ง และอาจมองว่าพระสงฆ์เอารัดเอาเปรียบสังคม มีแต่ได้กับได้ไม่เคยเป็นผู้ให้เลย ถ้ามองให้ลึกซึ้งแล้ว พระสงฆ์เป็นนักสังคมสงเคราะห์ชั้นนำทีเดียว
                 ตามหลักของศาสนา พระสงฆ์จะต้องอยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย ละความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราตัวเขา ละความเห็นแก่ตัว ละความโลภ โกรธ หลง แล้วนำหลักธรรมคำสั่งสอนไปเผยแผ่ช่วยเหลือชาวโลกให้เข้าถึงสัจจะ แห่งชีวิต
                 พระสงฆ์เมื่อได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจนสามารถเข้าถึงการบรรลุธรรมแล้ว มักจะได้ความสุขที่แท้จริงซึ่งเกิดจาก การปฏิบัติ การทำงานเพื่อสังคม ได้ความสุขจากการให้ มิใช่เสพความสุขซึ่งเกิดจากการได้ประโยชน์ส่วนตัว ทอดทิ้ง ภาระของสังคม
เมื่อละความเห็นแก่ตัวได้จึงเกิดเมตตาธรรม ช่วยเหลือสังคม นั่นคือการบำเพ็ญทานหรือสังคมสงเคราะห์ นั่นเอง เพราะท่านเปี่ยมด้วยศีล สมาธิ และปัญญา
                 การช่วยเหลือของพระสงฆ์หรือสังคมสงเคราะห์นั้น พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญตนเป็นต้นแบบของนักสังคม สงเคราะห์โดยแท้ เริ่มตั้งแต่การตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แล้วเริ่มประกาศพระศาสนา ตลอดระยะเวลา 45 ปี ทรงบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมอย่างหาบุคคลเปรียบได้ยากเสด็จจากแคว้นหนึ่งไปอีกแคว้นหนึ่ง เช้าตรู่ออกบิณฑบาต ช่วงเย็นแสดงธรรม พลบค่ำประทานโอวาทภิกษุ เที่ยงคืนแก้ปัญหาให้เหล่าเทวดา เวลาย่ำรุ่ง ตรวจดูสัตว์โลกผู้เข้าข่ายแห่งการบรรลุธรรม
                 พระพุทธจริยานี้พระองค์ ทรงปฏิบัติเป็นอาจิณ แม้ใกล้เสด็จขันธปรินิพพานก็ยังทรงโปรดให้สุภัททปริพาชก เข้าเฝ้าถามปัญหา ตลอดพระชนมายุ 80 พรรษา ทรงบำเพ็ญประโยชน์หรืออุทิศเพื่อสังคม ในช่วงที่พระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆมีพระสาวกเพียงแค่ 60 รูป ทรงตรัสกับพระสาวกให้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม มิได้ให้พระสงฆ์ทำตัวหลีกหนีสังคม
                 พระสาวกเป็นจำนวนมากแม้บรรลุพระอรหัตแล้ว เป็นผู้ที่ปลงภาระลงแล้ว คือไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก ก็ยังเป็นนัก สังคมสงเคราะห์ ช่วยเหลือสังคมบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์เพื่อชาวโลก มาถึงปัจจุบัน 2500 กว่าปีมาแล้ว บทบาทของพระสงฆ์เริ่มเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่เคยโดเด่น แต่กลับลดน้อยลงอย่างมาก
                 แต่มีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อย ที่ยังคงทำงานเพื่อสังคมอย่างจริงจัง อุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนา สมกับเป็นพุทธบุตร หรือศาสนาทายาทจริงๆ อย่างเช่น หลวงตามหาบัว ฐาณสัมปันโน จ.อุดรธานี, พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตโต) จ.นครปฐม, พระอาจารย์พยอม กัลยาโณ วัดสวนแก้ว, พระครูวิสาลสรกิจ วัดสุทธาราม ฯลฯ
                 ขอยกตัวอย่างเช่น พระธรรมปิฏก เป็นพระนักวิชาการศาสนาที่มีผู้คนยอมรับทั่วโลก เคยได้รับรางวัลยูเนสโก สาขาการศึกษาเพื่อสันติภาพ ท่านมิได้เป็นเพียงแค่นักวิชาการ แต่เป็นนักปฏิบัติด้วย มีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ทำงานเพื่อสังคมดั่งพุทธประสงค์
                 ส่วนพระครูวิสาลสรกิจ หรือหลวงพ่อดนัย อัตถภัทโท ชาวบ้านเรียกขานท่านว่าเป็นพระสฆ์นักพัฒนา ทำงาน และอุทิศชีวิตเพื่อสังคมจริง ๆ ไม่ว่าจะเปิดคลินิกรักษาโรคฟรี ผลิตน้ำดื่มฟรี สร้างหอพักให้นักศึกษายากจนได้ใช้ฟรี สงเคราะห์เด็กก่อนเกณฑ์ สงเคราะห์ชาวบ้าน ช่วยงานสังคมต่างๆ ดดยไม่หวังผลตอบแทน วันหนึ่งๆ แทบไม่มีเวลา เป็นของตัวเอง เมื่อว่างจากการช่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบทุกข์แล้วก็จะศึกษาค้นคว้าพระธรรม เพื่อนำไปพัฒนาตนเองและสงเคราะห์ชาวบ้านต่อไป เวลาใครไปมาหาสู่ก็ต้อนรับอย่างดี ไม่เลือกชั้นวรรณะ สงเคราะห์คนทุกระดับ
                 พระสงฆ์เหล่านี้ทำงานอุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนา ทำงานสังคมสงเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็น วัตถุ และ ธรรมะ นับเป็นพระสงฆ์ตัวอย่างของสงฆ์ปัจจุบัน
                 บทบาทของพระสงฆ์จะหวนกลับคืนมาอีกครั้งดั่งสมัยพุทธกาลซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเป็น ต้นแบบให้แล้วในฐานะนักสังคมสงเคราะห์ชั้นนำของโลก


ที่มา:นสพ. "ข่าวสดรายวัน ฉบับวันพุธที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๑ หน้า ๒๘ - พระเครื่อง