อย่าปล่อยให้ ‘บ้าน’ เป็นพื้นที่ก่อความรุนแรง

 

          "แหม...เธอนี่อ้วนจัง!" นี่ถือเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งที่บางครั้งผู้พูดอาจจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่าได้ทำร้ายจิตใจผู้ฟังมากแค่ไหน เพราะสำหรับผู้หญิงบางคนเรื่องอ้วนถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกมาก...มุมมองที่ ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง หนึ่งในพรีเซ็นเตอร์รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ปี 2548 ตั้งเป็นข้อสังเกตเล็กๆ ให้ทุกคน ในงานแถลงข่าว "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" ที่โรงแรมอโนมา เมื่อวันพุธที่ผ่านมา

          แม้เวลาแห่งการรณรงค์จะย่างเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว แต่ความรุนแรงและภาพข่าวอันน่าสลดหดหู่ที่ผู้หญิงและเด็กถูกกระทำ กลับไม่ได้ลดลงตามระยะเวลานั้น

          "ใน 1 วัน มีเด็กถูกทารุณทางเพศ 40 คน (เฉลี่ยชั่วโมงละ 1 คน) โดยร้อยละ 97 เป็นเด็กผู้หญิง ส่วนสถานที่เกิดเหตุของการกระทำความรุนแรงมากกว่าร้อยละ 70 คือที่บ้านของเหยื่อนั่นเอง เด็กถูกทำร้ายโดยคนในครอบครัวหรือคนรู้จัก คิดเป็นร้อยละ 56 ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นพ่อบ้าน และเฉลี่ยในแต่ละวันมีผู้หญิงถูกทำร้ายบาดเจ็บรุนแรง 12-15 คน" น.พ.ชาญวิทย์ ทระเทพ จากกระทรวงสาธารณสุข อ้างอิงถึงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อความรุนแรงในครอบครัว เดือนตุลาคมปี 2548 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ พร้อมวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดกับเด็กและผู้หญิงโดยอยู่ในพื้นที่ครอบครัวในปัจจุบันนั้นว่า

          "เป็นเรื่องน่าแปลกของสังคม ที่มักจะให้ความสำคัญกับคนนอกครอบครัวมากกว่าคนในครอบครัว เรามักจะอดทน ระมัดระวังกริยา คำพูดกับคนอื่นซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ แต่กับคนในบ้านของตัวเองกลับอดกลั้นน้อยกว่า และระเบิดอารมณ์มากกว่า ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นคนที่เรารัก ตรงนี้เราต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่กันเสียที" ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

          ดร.สุธีรา วิจิตรานนท์ นายกสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในฐานะองค์กรเอกชนผู้ทำหน้าที่อุ้มชูและดูแลเหยื่อผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงมานานถึง 25 ปี รายงานถึงสถานการณ์ให้ฟังว่า

          ในบ้านพักฉุกเฉินของที่นี่จะมีคนมาใช้บริการในแต่ละวันถึง 100 กว่าคน ซึ่งถือเป็นจำนวนไม่น้อย และความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากคนใกล้ชิดทั้งสิ้น "หลายครั้งคิดว่าบ้านคือที่ที่ปลอดภัยที่สุด แต่กลายเป็นว่าไม่ใช่" และเพื่อเป็นการหยุดยั้งการก่อความรุนแรง สมาคมจึงร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เช่น กทม. ตำรวจ จัดทำระบบข้อมูลในเรื่องนี้ เพื่อที่ทุกคนจะได้ตระหนักว่าสถานการณ์ความรุนแรงขณะนี้รุนแรงเพียงใดแล้ว

          น.พ.สิทธิสัตย์ เจียมวงศ์แพทย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร มองเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมว่า เปรียบเสมือนเป็นภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทร ที่โผล่ขึ้นมาเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น คนรอบข้างอาจจะรู้แต่เปิดเผยได้ยาก เพราะถือเป็นเรื่องที่ไม่ดี ทัศนคติเหล่านี้ต้องอาศัยสังคมที่ต้องช่วยกันเปิดเผย ไม่ใช่เป็นการประณาม แต่เป็นการเยียวยาให้ผู้กระทำกลายเป็นปกติได้ กรุงเทพมหานครเองก็ได้ลงนามความร่วมมือทำฐานข้อมูลด้วย พร้อมทั้งจัดพิมพ์ไปรษณียบัตร เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งให้ผู้พบเห็นหรือเหยื่อที่ถูกกระทำความรุนแรงส่งมาขอความช่วยเหลือได้พร้อมทั้งเพื่อแสดงตนร่วมเป็นเครือข่ายของการณรงค์ นอกจากการแจ้งทางโทรศัพท์มาที่ศูนย์ประชาบดี หมายเลข 1300

          คุณอรทัย ฐานะจาโร เลขาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แสดงความเห็นต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่า ปัจจุบันนี้ โครงสร้างสังคมเปลี่ยนไป คนยังปรับตัวไม่ทัน จึงยังไม่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมเท่าที่ควร

          "เมื่อตอนดิฉันเด็กๆ จำได้ว่า จะรู้จักหมดว่าเพื่อนบ้านชื่ออะไร แต่ตอนนี้เราไม่รู้เลย สังคมขาดความเอื้ออาทรที่จะดูแลกันและกัน มันเลยทำให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อความปลอดภัย ถ้าพ่อแม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน แล้วมันจะมีผลต่อลูกที่จะเลือกใช้ความรุนแรงต่อไป ครอบครัวทุกวันนี้ควรมีเวลาให้กันมากขึ้น คุยกันดีๆมากขึ้น"

          ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง พรีเซ็นเตอร์รณรงค์ยุติความรุนแรงยืดอกที่ติดสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาว กล่าวถึงเจตนารมณ์ในการร่วมรณรงค์ครั้งนี้ว่า

          "อยากให้ผู้ชายแสดงความเป็นสุภาพบุรุษ ผู้ชายมักแสดงตนว่ามีพลังมากกว่าคนอื่น ผมอยากให้ใช้พลังนี้ปกป้องผู้หญิงและเด็ก สุภาพบุรุษตัวจริงต้องปกป้องตัวเองเป็นคนสุดท้าย อยากให้ผู้ชายนึกถึงว่า ผู้หญิงทุกคนมีเพศเดียวกันกับแม่ของเรา พูดเหลือเกินว่ารักแม่ ฉะนั้นก็ต้องให้เกียรติผู้หญิงเหมือนที่ให้เกียรติแม่ด้วย"

          คุณจีระศักดิ์ ปานพุ่ม พรีเซ็นเตอร์อีกคน ที่ยินดีจะร่วมรณรงค์ในครั้งนี้ เล่าว่า จากการที่เขาได้เห็นความรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งจากการเล่นคอนเสิร์ต ขาร็อคพ่อลูกอ่อนคนนี้จึงร่วมกับเพื่อนๆ จะจัดโครงการเสนอต่อสำนักงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) เพื่อส่งเสริมคุณภาพของเด็กและเยาวชน เน้นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมที่สร้างสรรค์ โดยมีดนตรีเป็นสื่อกลางและมีกิจกรรมที่มีสาระเป็นตัวช่วยเสริมด้วย

          อย่าให้พื้นที่ในหน้าหนังสือพิมพ์มีแต่ข่าวฆ่ากันตาย คนทำร้ายกัน และสารพัดความรุนแรง ไปมากกว่านี้เลย

ที่มา : นสพ.คมชัดลึก 7 พ.ย.48

วัดท่าไทร
สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้(สุราษฎร์ธานี)
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์ประสานงานสมาคมป้องกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี