คำแนะนำ
เกี่ยวกับอาจาระหรือข้อควรประพฤติสำหรับพระภิกษุสามเณร

โดย
สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ปุณฺณกมหาเถระ)
วัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพมหานคร
*******************************************************************


      
๑. อย่าสะพายย่ามขึ้นบ่า
      ๒. อย่าแบกร่ม
      ๓. อย่าเลิกชายจีวรขึ้นพาดไหล่
      ๔. อย่าคาบบุหรี่หรือเดินสูบตามถนนหรือในที่สาธารณะ
      ๕. ออกนอกคณะ (หรือนอกเขตวัด) ให้ห่มจีวร แม้มีอังสะออกนอกคณะก็ไม่ควร
      ๖. การนุ่งห่ม มิใช่เพื่อความสวยงาม แต่ควรจะระวังอย่าให้สกปรกเปรอะเปื้อนและส่งกลิ่น โดยเฉพาะเวลาออกนอกวัดหรือไปในงานพิธี ควรใช้สบง อังสะ จีวรให้เป็นสีเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันที่สุด อย่าให้ผิดสีกันจนดูไม่เรียบร้อย
      ๗. เวลานุ่งห่มไม่ว่าในวัดหรือนอกวัด ควรหาที่กำบังไม่ควรนุ่งห่มในที่เปิดเผย
      ๘. ถึงวันโกนถ้าจะไปในงานพิธีตอนเช้าไม่ต้องโกนศีรษะ ตอนบ่ายถ้าจะไปในงานพิธีจะต้องโกนก่อนไป
      ๙. เวลาประชุมหรือไปในงานพิธี ควรไปถึงสถานที่ก่อนผู้ใหญ่ อย่าให้ผู้ใหญ่ไปรอผู้น้อย ความจริงผู้น้อย ควรจะไปรอรับผู้ใหญ่ จึงจะชอบด้วยระเบียบ
      ๑๐. เวลาไปในงานพิธี ไม่ควรเดินไปถึงอาสนะแล้วนั่งลงเลยทีเดียว เป็นกิริยาไม่สุภาพ ควรคุกเข่าลงหน้าอาสนะ แล้วเดินเข่าเข้าไปนั่ง และต้องรอพระเถระผู้ใหญ่หรือรอให้พร้อมกัน
      ๑๑. ในงานพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ให้วางพัดข้างขวา วางย่ามไว้ข้างซ้ายเราเสมอไป
      ๑๒. ควรมีผ้ากราบติดย่ามไปในงานพิธีทุกครั้ง การใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าอื่นรับของที่สตรีนำมาถวาย เป็นการไม่สมควร
      ๑๓. การจับพัดในงานพิธีทั่วไปใช้มือขวา ถ้าบังสุกุลใช้มือซ้าย ส่วนมือขวาจับผ้าภูษาโยงอย่าเอนพัดโย้หน้าเย้หลัง ต้องตั้งให้ตรง แม้ก่อนหรือเมื่อเสร็จพิธีแล้ว การถือพัดควรให้อยู่ในลักษณะสำรวมเสมอ อย่าถือต่ำหรือแกว่งพัดไปมา เป็นกิริยาที่ไม่งาม
      ๑๔. ไม่ควรนั่งเสมอแถวเดียวกับผู้ใหญ่ ควรนั่งเยื้องหรือแถวลัดลงมา ถ้าจำเป็นต้องนั่งแถวเดียวกันกับผู้ใหญ่ควรนั่งข้างซ้ายผู้ใหญ่
      ๑๕. ไม่ควรนั่งเบียดเสียดผู้ใหญ่ หรือใกล้เกินไป
      ๑๖. ไม่ควรพูดข้ามศรีษะผู้ใหญ่ คือยื่นคอไปพูดกับผู้อื่นที่อยู่ตรงกันข้ามกับเรา ซึ่งผู้ใหญ่คั่นอยู่ในระหว่างกลาง
      ๑๗. ไม่ควรพูดทะลุกลางปล้อง คือผู้ใหญ่พูดอยู่ยังไม่จบพูดแทรกขึ้นในระหว่าง
      ๑๘. ไม่ควรพูดคัดค้านผู้ใหญ่ตรง ๆ โดยลักษณะไม่เคารพ
      ๑๙. เดินตามผู้ใหญ่ ไม่ควรให้ใกล้นัก ห่างนัก ควรเดินเยื้องอยู่ข้างซ้ายท่านนิดหน่อยเสมอ ไม่ควรเดินเยื้องขวา
      ๒๐. ไม่ควรเดินแซงขึ้นหน้าผู้ใหญ่ หรือเดินนำหน้าผู้ใหญ่ ถ้าจำเป็นจะต้องขึ้นหน้าควรแซงให้ห่างมาก ๆ
      ๒๑. ถ้าเดินสวนทางกับผู้ใหญ่ ควรหลีกทางขวา หรือควรหยุดยืนอยู่และหันหน้ามาทางท่าน ให้ท่านผ่านไปก่อนแล้วจึงค่อยเดินต่อไป
      ๒๒. ถ้าเราเดินอยู่ รู้ว่าผู้ใหญ่เดินตามมา ควรหยุดหลีกให้ท่านเดินไปข้างหน้าเสียก่อนแล้วจึงเดินตามท่าน
      ๒๓. ผู้ถือคัมภีร์พระธรรม ไม่ควรเดินตามหลังพระผู้เทศน์ ควรถือออกหน้าห่างพอสมควร และไม่ควรแบกหรือถือคัมภีร์โดยอาการไม่เคารพ
      ๒๔. การนั่งร่วมยานพาหนะไปกับผู้ใหญ่ เช่น นั่งในรถ ในเรือ ไม่ควรนั่งอาสนะเดียวกับท่าน สำหรับในรถ ควรนั่งข้างหน้า ส่วนในเรือ ควรนั่งข้างหลัง ถ้าจำเป็นจะต้องนั่งเคียงท่าน ควรนั่งข้างซ้ายท่านให้ท่านนั่งข้างขวาเรา และควรไหว้ขอโอกาสก่อนเสมอ
      ๒๕. การเดินนำทางผู้ใหญ่ ไม่ควรนำตรง ควรเดินเลี่ยงข้างนำท่านไป
      ๒๖. ผู้ใหญ่ไม่กั้นร่ม เราก็ไม่ควรกั้นร่มเดินตามท่าน ผู้ใหญ่ไม่สวมรองเท้า ก็ไม่ควรสวมรองเท้าเดินตามท่าน
      ๒๗. ยืนพูดกับผู้ใหญ่ที่ท่านไม่ได้สวมรองเท้า ไม่ได้กั้นร่ม ถ้าเราสวมรองเท้า ควรถอดรองเท้าลงจากรองเท้าและลดร่มทุกคราว
      ๒๘. ไม่ควรนั่งโดยอาการไม่เคารพพูดกับผู้ใหญ่ เช่น นั่งขัดสมาธิหรือนั่งชันเข่าหรือนั่งท้าวแขน เป็นต้น
      ๒๙. อยู่ในบ้านหรือในที่มิใช่วัด ไม่ควรกราบ ไหว้พระผู้ใหญ่ เพียงแต่ทำความสำรวมแสดงอาการเคารพเท่านั้น
      ๓๐. ผู้ใหญ่นั่งอยู่ จะเปิดปิดประตูหน้าต่าง หรือเอื้อมหยิบของที่อยู่สูงกว่าศีรษะผู้ใหญ่ควรใหว้หรือขอโอกาสก่อนทุกครั้ง
      ๓๑. ไม่ควรยืนฉันอาหารหรือยืนดื่มนี้ เป็นต้น ควรนั่งลงก่อนแล้วจึงฉันหรือดื่ม
      ๓๒. เวลาฉันอาหาร ควรห่มผ้า และนั่งฉันให้เรียบร้อยทุก ๆ ครั้ง
      ๓๓. แม้อยู่ภายในกุฎิหรือภายในคณะ อย่านุ่งผ้าเหน็บกระเตี่ยว หรือนุ่งผ้าลอยชาย
      ๓๔. อย่าเอาผ้าอาบ - อังสะ - จีวรคล้องคอหรือพาดไหล่เดินไปมา หรือปล่อยชายลง ข้างหน้า ข้างหลังก็ไม่สมควร
      ๓๕. อย่าเอาผ้าอาบพันเอว
      ๓๖. เวลาเข้าประชุมหรือต่อหน้าผู้ใหญ่หรือญาติโยม อย่านั่งเท้าแขน หรือก้มหน้าเอนหลัง
      ๓๗. เวลาจะเปลี่ยนท่านั่งพับเพียบจากขาข้างหนึ่ง ให้คุกเข่าเปลี่ยนเท้าทั้งสองด้านหลัง อย่าเปลี่ยนโดยเอาขามาทางด้านหน้า
      ๓๘. อย่าเล่นหรือออกกำลังกายอย่างคฤหัสถ์ เช่น หมากรุก ไพ่ เตะตะกร้อ ชกมวย เป็นต้น ถ้าจะออกกำลัง ควรหาวิธีโดยควรแก่สมณสารูป
      ๓๙. อย่าทดลองหรือใช้เครื่องนุ่งห่ม หรือเครื่องประดับอย่างคฤหัสถ์ เช่น นาฬิกาข้อมือ รองเท้า หมวก เสื้อ กางเกง เป็นต้น
      ๔๐. เวลาลงทำวัตรสวดมนต์หรือเข้าประชุม ควรจัดนั่งเรียงแถวหน้ากระดานให้เป็นระเบียบเรียบร้อย อย่านั่งห่างกันเป็นหย่อม ๆ หรือแถวคด ดูไม่เรียบร้อย
      ๔๑. เวลาเข้าหรือเลิกประชุม ไม่ควรแย่งกันเข้าหรือออก ควรให้โอกาสแก่ผู้ใหญ่ตามลำดับอาวุโส
      ๔๒. เวลาไปในงานพิธี ตอนจะลุกออกจากอาสนะ ควรให้ประธานหรือหัวหน้าลุกก่อนนอกนั้นให้ลุกและออกมาตามลำดับ จนถึงปลายแถว ผู้อยู่ปลายแถวไม่ควรลุกและออกก่อน
      ๔๓. ดอกไม้ธูปเทียนที่ทายกทายิกาถวายมา ไม่ควรทิ้งขว้างหรือวางไว้ในที่ไม่สมควร ควรนำมาบูชาพระ
      ๔๔. อย่าทิ้งเศษขยะหรือสิ่งของลงทางหน้าต่าง หรือจากชั้นบนลงพื้นชั้นล่าง และตามบริเวณวัดหรือที่สาธารณะ เป็นกิริยาของ ผู้ที่ไม่มีมารยาท ควรหาที่ใส่แล้วนำไปทิ้งในที่ที่จัดไว้
      ๔๕. อย่าเปิดวิทยุเสียงดังให้ผู้อยู่ใกล้เคียงรำคาญ
      ๔๖. ให้ช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดภายในกุฎิ ควรหาที่ใส่แล้วนำไปทิ้งในที่ที่จัดไว้
      ๔๗. ไปในงานพิธีสวดมนต์ในวัดหรือนอกวัด ไม่ควรเอาหนังสือสวดมนต์ - แบบไปกางสวด หรือเอาหนังสือไปอ่าน หรือเอาตำราไปท่อง เป็นกิริยาที่ไม่งาม
      ๔๘. ให้ช่วยกันสอดส่องผู้อยู่ในปกครองของตน ตลอดผู้ที่มาพักพาอาศัย ให้เอื้อเฟื้อต่อระเบียบของคณะและของวัด
      ๔๙. ไปลา มาบอก โดยวาจาหรือโดยลายลักษณ์อักษร เป็นสมบัติของผู้ดีที่ควรปฎิบัติ
      ๕๐. อย่าสะพายกล้องถ่ายรูปในที่สาธารณะ
      ๕๑. อย่ารับเป็นมัคคุเทศก์พาคฤห้สถ์ต่างชาติเที่ยว

******************

พระสุธีรัตนาภรณ์
จดบันทึกย่อ

 

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
ไป Web ศูนย์ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์วัดท่าไทร