รักษาพระพุทธศาสนา คือรักษาพระธรรมวินัย
ปาฐกถาธรรมโดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)

          ความสำคัญของการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย หรือเรียกสั้น ๆ ว่า 'บวชเรียน' ต้องเน้นต้องย้ำกันไว้ เพราะเป็นทั้งการรักษาพระพุทธศาสนา เป็นการทำให้พระพุทธศาสนาปรากฏ และทำให้คนได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนา เราพูดว่าจะรักษาพระพุทธศาสนา ก็ต้องรู้ว่าเนื้อตัวของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ไหน หรือว่าอะไรเป็นเนื้อตัวของพระพุทธศาสนา มิฉะนั้น พูดว่ารักษาพระพุทธศาสนา แต่อาจจะไปรักษาอะไรก็ไม่รู้ ที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนาเลย ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับพระพุทธศาสนาก็ได้ บางทีก็ได้แค่เปลือกหรือเครื่องห่อหุ้ม เหมือนจะรักษาคน กลับไปเอาขี้เหงื่อขี้ไคล หรืออย่างดีก็ได้แค่เสื้อผ้าที่คนสวมใส่

          อะไรเป็นเนื้อเป็นตัวของพระพุทธศาสนา ถามว่าพระพุทธศาสนาเกิดจากไหน ก็ตอบว่าเกิดจากพระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้น หรือทรงค้นพบแล้วประกาศขึ้นมา คือพระองค์ตรัสรู้แล้วก็ทรงนำมาเทศนาสั่งสอน พูดง่าย ๆ ว่าเกิดจากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

          คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าคืออะไร ก็คือพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นคำสั้น ๆ ที่รวมทุกสิ่งทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้

          จึงต้องย้ำกันไว้เสมอว่า แกนกลางหรือเนื้อตัวของพระพุทธศาสนานั้น ก็คือพระธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงและบัญญัติไว้

          พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้เองว่า "อานนท์โดยการที่เราล่วงลับไป ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย"

          ถึงแม้พระพุทธเจ้าไม่อยู่ แต่ถ้าธรรมวินัยที่พระองค์สั่งสอนไว้ยังอยู่ ก็เท่ากับว่าพระพุทธเจ้ายังอยู่เหมือนกัน คือเรายังฟังยังรู้คำสั่งสอนของพระองค์ และเอาใช้เอามาประพฤติปฏิบัติได้ เพราะฉะนั้น เนื้อตัวแท้ ๆ ของพระพุทธศาสนาจึงอยู่ที่พระธรรมวินัยนี้ และถ้าเราจะรักษาพระพุทธศาสนา ก็ต้องรักษาพระธรรมวินัยไว้ให้ได้

          แล้วก็ถามต่อไปอีกว่า พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานนาน ๒,๖๐๐ กว่าปีแล้ว พระธรรมวินัยที่เป็น คำสั่งสอนของพระองค์ เป็นศาสดาแทนพระองค์นั้น มาถึงเราได้อย่างไร เราจะหาพระธรรมวินัยได้ที่ไหน

          ก็ต้องรวบรัดง่ายที่สุดเลยว่า พระธรรมวินัยนั้นท่านจารึกไว้เป็นพระไตรปิฎก และพระสงฆ์ ตั้งแต่พระสาวกรุ่นใกล้ชิดพระพุทธเจ้าได้รักษาสืบทอดกันมา ด้วยการทรงจำสาธยาย และจารึกไว้ด้วยความไม่ประมาท เพราะฉะนั้น พระไตรปิฎกจึงเป็นที่บรรจุรวบรวมพระธรรมวินัยไว้ และจึงใช้เป็นหลัก ในการศึกษาสั่งสอนพระพุทธศาสนา และเป็นมาตรฐานหรือเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าอะไรเป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่

          ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า พระธรรมวินัยเป็นเนื้อเป็นตัวของพระพุทธศาสนา ตัวแท้ของพระพุทธศาสนาอยู่ที่พระธรรมวินัย จะรักษาพระพุทธศาสนาก็ต้องรักษาพระธรรมวินัย และยึดเอาพระธรรมวินัยเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ของพระพุทธศาสนา เราจะรักษาพระธรรมวินัย และเอาพระธรรมวินัยมาตั้งเป็นหลัก เป็นเกณฑ์ได้อย่างไร ก็ต้องมีการศึกษาเล่าเรียน เมื่อเล่าเรียนก็รู้ เมื่อรู้แล้วนำมาปฏิบัติ พระธรรมวินัยก็ปรากฏออกมาในการประพฤติปฏิบัตินั้น เช่น ในจริยาวัตรของพระเณร เป็นต้น และเมื่อคนประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พระเณรนำมาสั่งสอน ประชาชนก็จะได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนา เช่น ทำให้สั่งคมดี มีศีลธรรม อยู่กันสงบเรียบร้อย ร่มเย็นเป็นสุข และชีวิตพัฒนาดียิ่งขึ้นไป

          ถ้าตัวเราเองไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย แต่ช่วยสนับสนุนพระเณรให้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ก็เท่ากับช่วยรักษาสืบต่อพระพุทธศาสนา ยิ่งถ้าตัวเองก็ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยด้วย สนับสนุนผู้อื่นด้วย ก็ประเสริฐที่สุด

          พระพุทธเจ้าทรงปกครองคณะสงฆ ์ในสมัยพุทธกาล ทรงจัดตั้งวางระเบียบต่าง ๆ ก็เพื่อให้พุทธบริษัทคือพระสงฆ์และประชาชนได้ประโยชน์จากพระธรรมวินัยที่พระองค์ได้ทรงสั่งสอน พูดง่าย ๆ ว่าคนทั้งหลาย จะมาเอาพระธรรมวินัยจากพระองค์ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงจัดระเบียบพระสงฆ์และวัดวาอารามให้มั่นใจว่า พุทธบริษัททุกคนจะได้ธรรมวินัยไปอย่างดีที่สุด เรียกว่าพระธรรมวินัยนั่นแหละ เป็นเป้าหมายของการปกครองคณะสงฆ์ และก็เป็นหลักเป็นเกณฑ์ในการจัดการปกครองนั้นด้วย

          คนจะได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนา คือจากพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนก็ด้วย การศึกษาเล่าเรียน ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนั้น ที่ท่านเรียกว่า ไตรสิกขา ให้พระเณร เป็นต้น เจริญในศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าจัดการปกครอง จัดระเบียบพระสงฆ์และวัดวาอาราม ให้เป็นเครื่องกำกับ หรือ เกื้อหนุนให้พระเณรได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย จนมั่นใจได้ว่า พระเณรเหล่านั้นจะเจริญงอกงามในศีล สมาธิ ปัญญา และสามารถสอนประชาชนให้รู้เข้าใจประพฤติปฏิบัติในทาน ศีล ภาวนา ดำเนินชีวิตให้ดีงาม และช่วยกันสร้างสรรค์สังคมได้ ก็พูดได้ว่า การปกครองคณะสงฆ์และการจัดตั้งวางระเบียบการคณะสงฆ์นั้น ประสบความสำเร็จ

          แต่ถ้าปกครองกันไปแล้ว จัดตั้งวางระเบียบไปแล้ว ไม่เกิดผลตามนี้ ไม่ว่าจะมีวัตถุ อาคาร สถานที่ หรืออะไรๆ มากมายเพิ่มขึ้นมา หรือแม้แต่ลงโทษคนร้ายได้เฉียบขาดรุนแรง ก็ต้องพูดว่าเป็นความล้มเหลว เวลาพูดกันว่า จะแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ จะออกกฎหมายคณะสงฆ์ใหม่ ก็ควรจะมีความชัดเจนว่า จะออกกฎหมายมาเพื่ออะไร จะปกครองเพื่ออะไร จะจัดระเบียบการคณะสงฆ์เพื่ออะไร

          ถ้าต้องการจัดการปกครองคณะสงฆ์ เพื่อดำรงรักษาพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระพุทธศาสนา ปรากฏ และให้พระพุทธศาสนาเกิดประโยชน์แก่ชีวิต แก่สังคม แก่ประเทศชาติ พ.ร.บ.หรือกฎหมายคณะสงฆ์นั้น ก็ต้องมีพระธรรมวินัยเป็นหลักเป็นเป้าหมาย

          กฎหมาย ก็จะต้องเป็นเครื่องมือที่จะรองรับพระธรรมวินัย และเป็นหลักประกันที่จะให้พระธรรมวินัย โดดเด่นออกมาเป็นหลักเป็นเกณฑ์และออกมาสู่การรู้เข้าใจและการประพฤติของพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั้งปวง

          พร้อมกันนั้น พ.ร.บ. หรือกฎหมายคณะสงฆ์ ก็จะต้องเป็นเครื่องกำกับ และเป็นหลักประกันให้พุทธบริษัท โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณร ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ที่เป็นเนื้อตัวของพระพุทธศาสนานั้น และมีความประพฤติ ศีลาจารวัตร มีจิตสำนึก มีคุณธรรม มีปัญญารู้เข้าใจ เจริญงอกงามขึ้นมา เป็นพระเณรที่ดี มีคุณภาพ สามารถทำหน้าที่ต่อพุทธบริษัท ด้วยการให้ธรรมแก่ชาวบ้าน หรือใช้วัดเป็นที่บำเพ็ญประโยชน์แก่
่ญาติโยมประชาชนตามหลักธรรมทานได้

          พูดง่าย ๆ ว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ต้องช่วยกำกับให้พุทธบริษัทเจริญในไตรสิกขา คือทำให้พระธรรมวินัยเกิดประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมประเทศชาติ ด้วยไตรสิกขา อย่างน้อย ง่าย และสั้นที่สุดว่า ถ้า พ.ร.บ. หรือกฎหมายคณะสงฆ์นี้ เป็นเครื่องกำกับ และเป็นหลักประกัน ให้การคณะสงฆ์ไทยทั้งหมดยังเป็นระบบการ "บวชเรียน" คือ บวชเพื่อเรียน หรือบวชแล้วต้องศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมวินัยแค่นี้ การออก พ.ร.บ.คณะสงฆ์นั้นก็คุ้มค่า บรรลุวัตถุประสงค์

          แต่ถ้าไม่เกิดผลอย่างไรนี้ ถึงจะตรากฎหมายให้วิจิตรพิสดารเพียงใด ก็ต้องพูดว่า ล้มเหลว ไร้ความหมาย ที่ว่าให้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์เป็นหลักประกันระบบการบวชเรียนนั้น จะต้องเน้น และทำให้มั่นใจว่า จะต้องให้มาตรการนี้เกิดขึ้นที่วัดซึ่งอยู่กับชุมชนเล็กน้อยทั้งหลาย ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทยนี้

          ความสำเร็จของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ วัดได้ตรงนี้ คือที่วัดและชุมชนหน่วยย่อย ๆ ทุกตำบล หมู่บ้าน ถ้าฟื้นฟูวัดและชุมชนทั้งหลายขึ้นมาสู่พระธรรมวินัยและไตรสิกขาได้ เมืองไทยจะกลายเป็นประเทศพัฒนาที่แท้อย่างแน่นอน เวลานี้ รู้กันดีว่า พระเณรมากมายหรือจะว่าส่วนใหญ่ก็ได้ ไม่รู้ธรรมวินัย ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร ว่าเชื่อถือหรือประพฤติปฏิบัติอย่างไรเป็นพระพุทธศาสนา

          ที่เราว่าการเรียนท่องจำได้อย่างนกแก้วนกขุนทอง เป็นการศึกษาที่ไม่ดี แต่เวลานี้ ถ้าพระเณรไทยส่วนใหญ่จำคำสอนของพระพุทธเจ้าได้บ้าง แม้เพียงอย่างนกแก้วนกขุนทองก็ต้องนับว่าดีมากทีเดียว (อย่าดูถูก การเป็นนกแก้วนกขุนทองให้เกินไปนัก แม้นกแก้วนกขุนทองจะพูดแจ้วโดยไม่รู้ความหมาย แต่ก็ช่วยเตือนสติ เจ้าของได้ และทำให้ขโมยที่แอบเข้ามาชะงักไปหน่อยเหมือนกัน)

          สรุปว่า กฎหมายคณะสงฆ์ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ จะต้องเป็นฐานรองรับ ให้พระธรรมวินัย ปรากฏโดดเด่นขึ้นมาเป็นหลักของพระพุทธศาสนา และเป็นเครื่องกำกับให้พระภิกษุสามเณรที่บวชเข้ามาแล้ว ได้เจริญงอกงามในศีล สมาธิ ปัญญา ตามหลักไตรสิกขา สามารถสั่งสอนธรรมนำประชาชนให้พัฒนาชีวิตและ สังคม ประเทศชาติสู่ความเจริญมั่นคงและประโยชน์สุขที่แท้จริงยั่งยืน

          พูดอย่างสั้นว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ต้องเป็นฐานรองรับพระธรรมวินัยกำกับพระเณร ให้เจริญในไตรสิกขา และทำวัดให้เป็นแหล่งแผ่ธรรมขยายปัญญาสู่ชุมชน


***************************

หมายเหตุ : ปาฐกถาชิ้นนี้เรียบเรียงจาก หนังสือ "ภัยแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทย" โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)

วัดท่าไทร
สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้(สุราษฎร์ธานี)
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์ประสานงานสมาคมป้องกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี