๔๕ ปีแห่งพุทธกิจ

              วันเพ็ญกลางเดือน ๖ ที่เราชาวพุทธนิยมนับถือว่าเป็น“วันวิสาขบูชา”นั้น เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน จึงต้องมีการปฏิบัติธรรมกันเป็นกาลพิเศษ

              ดังนั้น การหวนย้อนนึกระลึกถึงพระพุทธกิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญมาตลอดพระชนมชีพของพระองค์ เพื่อมุ่งหมายให้สรรพสัตว์ทั้งมวลหลุดพ้นจากห้วงเหวแห่ง ความทุกข์ในชีวิต จึงเป็นกุศลจิตที่ควรแก่การปฏิบัติไม่น้อย อันจะทำให้เกิดกำลังใจ กำลังความคิด ในการต่อสู้ กับปัญหาชีวิตที่ถาโถมจู่โจมเข้ามาทุกรูปแบบอย่างไม่สะทกสะท้าน ด้วยไม่ยอมให้กิเลสมามีอำนาจครอบงำจิต ใจในการดำเนินชีวิต ส่งเสริมความดีให้เพิ่มพูนขึ้น และลดละตัดตอนความไม่ดีให้ลดน้อยลงๆ จนนำไปสู่ความ หมดจดผ่องใส

              พระพุทธเจ้าคือผู้ตรัสรู้ธรรมด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์เอง โดยไม่มีใครเป็นครูผู้สอน พระองค์เป็น ผู้ให้แสงสว่างแก่โลก เป็นผู้ข้ามพ้นแล้วจากการเวียนว่ายตายเกิด เป็นผู้ประกาศสัจธรรมอันประเสริฐและเป็นผู้ให้กำเนิดพระพุทธศาสนา

              พระพุทธเจ้าคือคนธรรมดา ที่ถือกำเนิดมาอย่างมนุษย์ทั้งหลาย ในช่วงเวลาหลายพันปีจึงจะมีขึ้นได้ และมีเพียงพระองค์เดียวเท่านั้นเป็นผู้ชนะอย่างประเสริฐแห่ง โลกทั้งหลาย ทรงสอนให้มนุษย์ได้รู้ถึงสัจธรรมอันประเสริฐ ฉุดมนุษย์ให้พ้นจากทุกข์ เมื่อเยาว์วัยพระองค์ได้ทรงรับการขนานนามว่า“สิทธัตถกุมาร” เป็นพระโอรสของ พระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายา แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นชมพูทวีป

              แม้ว่าพระองค์ จะทรงได้รับการเลี้ยงดูและทะนุถนอมให้ทรงพระเกษมสำราญอย่างที่บุคคลผู้เป็นกษัตริย์จะพึงได้รับ โดยประการใดๆ และความหรูหราฟุ่มเฟือยด้วย สรรพสิ่งที่มนุษย์ทุกคนปรารถนาจะได้ รวมทั้งพระราชวังอันสวยงาม และพระชายาผู้สิริโฉม ก็ไม่อาจสามารถทำให้พระองค์ทรงยินดีได้ตลอดไป เพราะในพระทัยของ พระองค์นั้นทรงสลดพระทัยเมื่อพบว่า ทุกคนต้องแก่ ต้องเจ็บไข้ทุกข์ทรมาน และตายไป และหนทางแห่งความ สงบที่จะพาไปสู่ความหลุดพ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย น่าจะมีอยู่

              ความคิดในการที่จะค้นหาความหลุดพ้นจากความทุกข์ มีความแก่ ความเจ็บ และความตาย เป็นต้น เกิดขึ้นแรงกล้า เพิ่มพูนขึ้นทุกวันๆ จนในที่สุดพระองค์ทรงตัดสินพระทัยหลีกหนีออกจากพระราชวังและพระชายาผู้เป็นที่รัก ในราตรีอันสงบเงียบราตรีหนึ่ง และท่องเที่ยวไปศึกษาวิธีที่จะพ้นจากทุกข์สำนักแล้วสำนักเล่า แต่ไม่มีสำนักของ คณาจารย์ผู้ใดเลยจะทำให้พระองค์เข้าถึงความดับทุกข์ได้

              ในที่สุดพระองค์ก็เสด็จจากสำนักคณาจารย์ต่างๆ และทรงบำเพ็ญเพียรด้วยพระองค์เอง ด้วยความเพียรอันยิ่งยวด โดยการทรมานตนให้ลำบากด้วยประการต่างๆ ก็ไม่สามารถตรัสรู้ได้ จึงหันมาบริโภคอาหาร แล้วบำเพ็ญ เพียรทางใจ ก็ได้ตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ในตอนรุ่งอรุณของวันเพ็ญเดือน ๖ ณ ใต้ต้นโพธิ์

              หลังจากตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้ทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยการแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ ให้ได้ตรัสรู้ธรรมของพระองค์ และเมื่อมีพระสาวกเพิ่มมากขึ้น พระองค์ทรงส่งพระสาวกเหล่านั้นไปประกาศพระศาสนายังสถานที่ต่างๆของแคว้นชมพูทวีป จนพระพุทธศาสนาตั้งมั่นคงได้ดีแล้ว พระองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ ใต้ต้นรัง แห่งเมืองกุสินาราในปีที่ ๔๕ นับแต่ปีอันได้ตรัสรู้ และในคืนที่จะปรินิพพานนั้น ได้แสดง ธรรมโปรดสุภัททปริพาชก จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ และเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายของพระองค์

              ธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์มีเป็นอันมาก ในที่นี้จะนำเสนอเท่าที่หน้ากระดาษจะอำนวยให้ ดังนี้

พุทธศาสนากับสังคม :
              พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาในสังคมที่มีการแบ่งแยกชั้นวรรณะ ด้วยการถือตัวถือตน ถือยศถือศักดิ์ ชาติ ตระกูล ตามลัทธิพราหมณ์ที่สั่งสอน กันมา ทำให้สังคมเกิดการแตกแยกอันเกิดจากลัทธิดังกล่าว พระองค์ทรงปฏิเสธลัทธิการถือชั้นวรรณะโดยสิ้น เชิง และประกาศความเสมอภาคของมนุษย์ และรับรองเสรีภาพของมนุษย์ว่า กำเนิด ชาติตระกูล ไม่ได้ทำให้บุคคลเป็นพราหมณ์ มิได้ทำให้บุคคลเป็นกษัตริย์ เป็นพ่อค้า ความประพฤติของบุคคลเป็นเครื่องกำเนิดบุคคล ชาติตระกูลไม่ใช่เป็น เครื่องกำหนดความแตกต่างของบุคคล

พุทธศาสนากับสตรี :
              ในประเทศอินเดีย ฐานะของสตรีเป็นฐานะแห่งทาสของบุรุษ สตรีไม่ได้รับความเสมอ ภาค และไม่ยอมรับความสามารถของสตรี

              พระพุทธเจ้าทรงยกย่องความสามารถของสตรีให้บุรุษเห็นว่า สตรีนั้นมีความสามารถไม่น้อยไปกว่าบุรุษเลย ทรงรับสตรีไว้ในพุทธมณฑล ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าสตรีไม่ สามารถบรรพชาอุปสมบทได้ และไม่สามารถบรรลุธรรม พิเศษได้

              นอกจากนั้นยังยกย่องสตรีผู้เป็นภรรยาว่าเป็นเพื่อน ที่ดีของสามี อันสามีไม่พึงปฏิบัติต่อเธอเสมือนทาส และทรงยกย่องสตรีทุกคนให้อยู่ในฐานะของความเป็นแม่ อันบุรุษพึงให้ความเคารพรักเช่นเดียวกับแม่ของตน

พระพุทธศาสนากับหลักความเชื่อ :
               พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า “ชาวกาลามะทั้งหลาย พวกท่าน ทั้งหลายอย่าเชื่อโดย
                     ๑.ฟังตามกันมา
                     ๒.โดยสืบต่อกันมา
                     ๓.โดยตื่นข่าวลือ
                     ๔.โดยอ้างตำรา
                     ๕.โดยนึกเอาเอง
                     ๖.โดยคาดคะเนเอาเอง
                     ๗.โดยคิดเอาตามอาการที่เป็นไป
                     ๘.โดยชอบใจว่าถูกต้องตามลัทธิของตน
                     ๙.โดยเชื่อว่าผู้พูดควร เชื่อได้
                   ๑๐.โดยนับถือว่าท่านเป็นอาจารย์ของเรา
              สรุปก็คือ ทรงสอนไม่ให้เชื่ออย่างงมงาย ความเชื่อที่ ถูกต้องนั้นต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องกำกับด้วย ผู้นับถือพุทธศาสนาจึงชื่อว่ามีเสรีภาพในการใช้ความเชื่ออย่างเต็มที่ พุทธศาสนาไม่มีการบังคับให้เชื่อ และไม่นิยมการ ล่อลวงให้เกิดความเชื่อในสิ่งทั้งหลาย

พระพุทธศาสนากับหลักพึ่งตนเอง :
               หลักการพึ่งตน เอง คือ ปฏิเสธการพึ่งทั้งหลายอื่น หรือการอ้อนวอนสิ่งทั้งหลาย ในมหาปรินิพพานสูตรและสูตรอื่นๆ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงมีตนเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย จงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่ง อื่นเป็นที่พึ่งเลย”

              มีความในพุทธศาสนาอีกหลายตอนที่สอนว่า มนุษย์ทั้งหลายไม่ควรวิงวอนต้นไม้ ภูเขา ดวงดาว และสิ่งใดๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นจะช่วยอะไรไม่ได้ ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่ง ของตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้

พระพุทธศาสนากับฤกษ์ยาม :
               พระพุทธศาสนาปฏิเสธเรื่องฤกษ์ยาม ไม่ยอมให้นับถืออย่างงมงาย ปฏิเสธเรื่องดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ด้วย พระพุทธเจ้าตรัสว่า“ผู้ใดถือฤกษ์ยามอยู่ ประโยชน์จะผ่านพ้นบุคคลผู้เขลานั้นไปเสีย ประโยชน์นั้นเองเป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจะมาทำอะไรให้ได้”

พระพุทธศาสนากับการล้างบาป :
               ลัทธิพราหมณ์นิยมว่า ผู้มีบาปต้องไปลอยบาปในแม่น้ำคงคา และแม่ น้ำศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ แต่ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรง ปฏิเสธการลอยบาปและล้างบาปไว้ในวัตถูปมสูตรว่า “คนพาลทำชั่ว แม้จะไปสู่แม่น้ำใด ก็ไม่บริสุทธิ์ได้ แม่น้ำจะช่วยอะไรได้เท่าบุคคลผู้ทำบาปหยาบช้า การรักษาศีล การมีความประพฤติดี ย่อมทำให้บุคคลเป็น ผู้บริสุทธิ์ ดูกร พราหมณ์ ท่านจงอาบตนด้วยธรรมวินัยนี้ ถ้าท่านไม่กล่าวเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ขโมย มีความเชื่อตามเหตุผล ไม่ตระหนี่ ท่านก็ไม่ต้องไปสู่แม่น้ำแห่งใดเลย”

พระพุทธศาสนากับหลักกรรม :
               พระพุทธศาสนาสอนเรื่องหลักกรรมไว้ว่า กรรมคือการกระทำ กระทำไว้อย่างไร ย่อมเกิดผลแก่การกระทำนั้น เหมือนชาวนาหว่าน พืชไว้เช่นไร ย่อมได้รับผลแห่งการหว่านพืชนั้น เช่นนั้น

              ในวาเสฏฐสูตร มีความตอนหนึ่งว่า“บุคคลไม่ได้เป็น คนชั่ว ไม่ได้เป็นคนดี เพราะชาติ หากเป็นเพราะการ กระทำ บุคคลเป็นชาวนา เป็นศิลปิน เป็นพ่อค้า เป็นคนรับใช้ เป็นโจร เป็นทหาร เป็นพระราชา ก็เพราะการกระทำ โลกเป็นไปเพราะกรรม สัตว์ทั้งหลายผูกพันอยู่กับกรรม เหมือนสลักลิ่มเป็นเครื่องยึดรถที่แล่นไม่ได้ฉันนั้น”

              ยังมีหลักธรรมที่น่าศึกษาสำหรับสังคมอีกมาก แต่หน้า กระดาษจำกัด จึงขอยุติไว้ด้วยปัจฉิมโอวาทที่ประทานแก่พุทธบริษัทในวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ ปรากฏในมหาปรินิพพานสูตรว่า
“บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

ที่มา :ผู้จัดการออนไลน์ 6 พฤษภาคม 2548 18:31 น.

 

วัดท่าไทร
สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้(สุราษฎร์ธานี)
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์ประสานงานสมาคมป้องกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี