เมื่อพระต้องพูด! เสียงสะท้อนจากชายแดนใต้
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 ตุลาคม 2548 12:02 น.

       โดย...ไพรัช มิ่งขวัญ
       ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
       

       ภายหลังคณะสงฆ์จังหวัดปัตตานีได้ออกแถลงการณ์ 20 ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องดังกล่าวมีการเสนอให้ยุติบทบาทการทำงานของ “คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ” หรือ (กอส.) รวมอยู่ด้วย เนื่องจากเห็นว่า ไม่มีความเป็นกลางโดยมักเข้าข้างและเห็นใจกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

       หลังแถลงการณ์อันเป็นที่มาของกระแสความสนใจต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อพระสงฆ์องค์เจ้าและชาวไทยพุทธที่สำคัญเป็นแรงขับขับเคลื่อนให้คณะสงฆ์จังหวัดนราธิวาส มีมติยอมรับพร้อมทั้งได้ประสานไปยังคณะสงฆ์จังหวัดยะลาเพื่อร่วมกันรับรองว่าแถลงการณ์ของคณะสงฆ์จังหวัดปัตตานีถือเป็นแถลงการณ์ร่วมกันของคณะสงฆ์3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
       
       ปรากฏการณ์ดังกล่าวนับเป็นบทสะท้อนความรู้สึกพระสงฆ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อบทบาทการแก้ปัญหาความไม่สงบของรัฐบาล ในฐานะศิษย์ตถาคตผู้เฝ้าดูการแก้ปัญหาความรุนแรงด้วยความนิ่งเงียบมานาน เป็นเสียงสะท้อนที่ทุกฝ่ายไม่อาจดูดาย ...
       

       ...“เกิดปัญหาขึ้นแต่ละครั้งจะสอบถามคนไทยพุทธไม่ค่อยจะมี ถามแต่คนมุสลิม หากคนไทยพุทธเกิดปัญหาจะไม่มีอะไรมากนัก เสนอข่าวแล้วก็เงียบไป แต่พอเกิดกรณีกรือเซะ ตากใบ ทำไมยกปัญหาขึ้นมาดีเด่นซึ่งตรงนี้มันก็ดี แต่ยกเป็นเรื่องสำคัญมากเกินไป”
       
       “อาตมาไม่ได้ว่าลำเอียง เวลาประชุมแต่ละครั้งพยายามบอกพระว่าให้ช่วยรักษาสันติ อยากบอกว่าแม้เหตุการณ์มันจะไม่สันติ แต่พระอยู่อย่างสันติอยู่แล้วไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร”
       
       เป็นเสียงเอ่ยที่ราบเรียบของ “พระมหาภูษิต ฐิตสิริ” พระนักเทศชื่อดังและครูสอนนักธรรมแห่ง “วัดพระศรีมหาโพธิ์” ตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี แสดงความเห็นถึงการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ กอส.ช่วงที่ผ่านมา
       
       ในฐานะศิษย์ตถาคตผู้อยู่ในร่มกาสาวพัตร์มากว่า 20 พรรษา พระนักเทศน์ชื่อดังรายนี้ได้รับฟังเสียงแห่งความอัดอั้นจากชาวบ้านในพื้นที่ไม่เว้นแต่ละวัน พระมหาภูษิตรู้ดีว่าในฐานะพระสงฆ์สามารถทำได้เพียงรับฟังปัญหาด้วยปัญญาและใช้หลักธรรมเข้าเยียวยาผู้ที่กำลังตกอยู่ในกองทุกข์
       
       “ที่ผ่านมามีชาวบ้านมาบ่นว่าทีคนไทยพุทธโดนทำร้ายทำไมไม่ให้ความสำคัญ บางคนบ่นว่าเขาไปสมานฉันท์แต่ฝ่ายอื่น ส่วนตัวอาตมาไม่ได้คิดอะไรมาก การแก้ปัญหาที่ผ่านมาเป็นระบบที่เอื้อต่อการเมือง แม้ไม่มีใครมาให้ความสนใจแต่เชื่อว่าในหมู่ชาวไทยพุทธจะดูแลไม่ทอดทิ้งกัน”
       

       “พยายามบอกว่าอย่าประมาท ทุกวันนี้ชาวบ้านมาปรับทุกข์บอกว่าไม่รู้จะอยู่ได้อย่างไร ออกไปทำงาน ออกไปเรียนจะเจอเหตุร้ายหรือไม่ พระทำหน้าที่ได้เพียงอย่างเดียวคืออยู่เป็นกำลังใจให้ชาวบ้าน สอนเขาว่าอย่าเครียดจนเบียดเบียนความสุข ทุกข์จนหมดปัญญา อย่ากลัวตาย เพราะคนเราตายครั้งเดียว” พระมหาภูษิต แสดงความเห็น
       
       ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่นอกจากชาวบ้านจะต้องหวาดระแวงภัยร้ายแล้ว แม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้าเองก็ยังต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อรักษาตัวรอดเช่นกัน
       
       “เกิดเหตุไม่สงบขึ้นพระก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการบิณฑบาตจากปกติออกตอนเช้ามืดก็เลื่อนเวลามาเป็นรุ่งสางยามที่มีแสงอาทิตย์ ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องสี่ยงออกมาทำบุญตอนเช้ามืด พระวัดนี้มีทั้งหมด 10 รูป ออกบิณฑบาตองค์เดียว ไม่มีทหารคุ้มกัน ไม่มีเด็กวัด ก็ต้องดูหน้าดูหลัง เหมือนกัน คนเราทุกคนเกิดมาต้องตายถึงเวลาเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น”
       
       สำหรับแนวทางแก้ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาหลายฝ่ายมีมุมมองของตนเองซึ่งล้วนแต่มีเจตนาอยากให้เกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นในพื้นที่ แต่ในมุมมองของ “พระนักเทศน์” ชื่อดังแห่งตำบลโคกโพธิ์รูปนี้ ต้องการให้ภาครัฐทำให้ประชาชนทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน อย่าเลือกปฏิบัติ อีกทั้งเวลาประชุมเพื่อระดมความเห็นในการแก้ปัญหา ต้องรับฟัง ความเห็นจากผู้ที่คลุกคลีอยู่ในพื้นที่จริงๆ
       
       “ที่ผ่านมาการประชุมแต่ละครั้งพระสงฆ์ได้แสดงความเห็นน้อยมาก มักไม่ได้รับโอกาส เวลาจะคิดหรือจะพูดอะไรเพื่อช่วยแก้ปัญหามักได้รับคำตอบกลับมาว่า มันไม่ใช่กิจของสงฆ์ แค่นี้ก็พูดไม่ออกแล้ว”พระมหาภูษิต กล่าวด้วยน้ำเสียงสำรวม
       

       พระมหาภูษิต ได้ฝากข้อคิดถึงสังคมไว้ว่าท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบพยายามสร้างความแตกแยกระหว่างศาสนาขึ้นนั้นขอให้ใช้สติในการคิดในสังคมมีทั้งคนดีคนไม่ดีคละเคล้ากันไปต้องรู้จักแยกแยะ อย่าไปเหมารวม
       
       “ต้องมีสติ รู้เท่าทัน ตอนนี้มีพวกเพี้ยนบางคนนำศาสนามาหาอำนาจให้ตนเอง ทำให้เกิดปัญหาขึ้นทั่วไป แนวทางสันติหากใช้ถูกจุดไม่เอียงเอนไปข้างใดข้างหนึ่งจะสามารถแก้ปัญหาได้ แต่ถึงอย่างไรต้องขอขอบคุณทั้งคนไทยพุทธและไทยมุสลิมทั่วประเทศที่ยังเป็นห่วงพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คอยช่วยเหลือกันอยู่” พระมหาภูษิต กล่าวปิดท้าย
       
       ขณะที่ “พระชัยยุทธ โชติวังโส” พระนิสิตปี 3 มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ปฏิบัติหน้าที่เลขาพระราชมงคลญาณ เจ้าอาวาสวัดบูรพาราม ตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี แสดงความเห็นว่าเหตุที่คณะสงฆ์จังหวัดปัตตานี เสนอให้มีการยุบ กอส.นั้นไม่ได้มีเจตนาสร้างความแตกแยกในสังคม แต่เป็นแนวในการแก้ปัญหาทางหนึ่ง ส่วนข้อเสนอจะนำไปสู่ขั้นตอนการดำเนินการอย่างไรหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจ
       
       “ขอเสนอ คือ ความเห็นโดยรวมของคณะสงฆ์ทั้งจังหวัดปัตตานี ประชาชนในพื้นที่ต่างรู้สึกว่าตนเป็นพลเมืองชั้นสอง ถูกกดขี่จากกลุ่มมุสลิมโดยรอบ ขณะที่ชาวมุสลิมก็อ้างว่าถูกกดขี่จากองค์กรรัฐ ความสมานฉันท์อยู่ตรงไหน หากไปสมานฉันท์กับกลุ่มโจรแล้วความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นโดยแท้จริงได้อย่างไร ทางพระไม่ได้เรียกร้องสิทธิมากมายแต่อยากให้นึกถึงหัวอกชาวไทยพุทธที่โดนกระทำ อยากให้ความช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเท่าเทียม” พระชัยยุทธ ชี้แจง
       
       วัดบูรพาราม ไม่ต่างจากวัดอื่นๆในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจพุทธศาสนิกชนในพื้นที่แล้ว พระสงฆ์ภายในวัดยังต้องทำหน้าที่ดับไฟที่สุมอกญาติโยมอันเนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบ อีกทั้งที่ผ่านมามีชาวบ้านอพยพครอบครัวออกจากหมู่บ้านไปแล้วหลายราย
       
       “ชาวบ้านมาทำบุญบ่นให้ฟังตลอดว่ากลัว อยากให้ความสงบสุขกลับคืนมาสู่หมู่บ้านโดยเร็ว ในฐานะพระได้แต่เยียวยาทางจิตใจ แต่ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตให้เขาได้”
       

       พระชัยยุทธ ชี้แจงว่าไม่เพียงแต่ชาวบ้านเท่านั้นที่หวั่นเกรงเหตุร้าย ช่วงที่ผ่านมามีพระย้ายออกไปจำพรรษานอกพื้นที่หลายรูป ขณะที่วัดบูรพารามมีพระจำวัดอยู่ทั้งสิ้นเพียง 6 รูป ขณะที่บางวัดมีพระอยู่ไม่ถึง 5 รูป รวมพระใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีไม่ถึง 300 รูป ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนาได้
       
       “วันนี้อยากบอกว่าพระไม่ได้ยุ่งกับการเมืองแต่พระต้องยุ่งกับบ้านเมือง ถ้าพระในพื้นที่ 3 จังหวัดได้พูดได้อธิบายเรื่องราวจะไม่ลุกลามมากถึงขนาดนี้ เราเงียบมาตลอด ดูมาตลอด เมื่อฝ่ายอื่นๆแก้ปัญหาไม่ได้เราก็ทำหน้าที่เสนอสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราคิด หากฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยากแก้ปัญหาจริงๆขอให้ลงมาในพื้นที่มาฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้านและเท่าเทียมกัน อย่ามาเพียงแต่สร้างภาพ”พระชัยยุทธ กล่าวสรุป
       
       ด้าน “พระครูสังฆรักษ์ สมใจ” พระเลขาพระราชคุณาธาร เจ้าคณะจังหวัดนราธิวาส วัดประชุมชลธารา ตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส บอกว่าที่ผ่านมา กอส.ไม่ได้ให้น้ำหนักในการเยียวยาชาวพุทธที่ได้รับความเดือนร้อนเท่าที่ควรจึงเกิดคำถามในหมู่ชาวไทยพุทธว่า กอส.ทำหน้าที่เพื่อใคร ที่ผ่านมาไม่ได้มีการเอาตัวแทนของพระใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง แต่กลับเอาตัวแทนซึ่งเป็นคนที่ไม่เคยรู้ปัญหาเข้าไปแก้ปัญหาแล้วจะแก้ได้อย่างไร
       
       ส่วนแถลงการณ์ที่ออกในนามคณะสงฆ์ก็เพียงแต่อยากแสดงความรู้สึกของพระสงฆ์ในพื้นที่เท่านั้น สำหรับปัญหาพระสงฆ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มักคล้ายคลึงกันคือมีพระอยู่น้อย ญาติโยมหวาดกลัวต้องอาศัยวัดเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
       
       “ปัจจุบันญาติโยมต้องปรับตัว ในการมาวัดแต่ละทีต้องระวังตัวดูหน้า ดูหลัง เวลาเย็นๆต้องรีบเดินทางกลับบ้านเดี๋ยวจะไม่ปลอดภัย ขณะพระต้องปรับรูปแบบการรับกิจนิมนต์ จากเมื่อก่อนอาศัยเหมารถชาวมุสลิมแต่ปัจจุบันต้องอาศัยรถญาติโยม หรือรถของสำนักพระพุทธศาสนาเดินทางแทน”
       

       สำหรับปัญหาพระย้ายออกจากวัดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พระครูสังฆรักษ์อธิบายว่า พระที่ย้ายออกไปเป็นพระนอกพื้นที่ แต่พระในพื้นที่จะไม่ทิ้งถิ่นฐานหนีไปไหน แม้เหตุการณ์จะลุกลามรุนแรงเพียงใด
       
       “พระหลายรูปเกิดบนผืนดินแห่งนี้และจะอยู่ที่นี่ ไม่ว่าเหตุการณ์จะรุนแรงเพียงใดอยากให้ทุกฝ่ายใช้สติในการแก้ปัญหา ญาติโยมทั้งหลายต้องใช้สติพิจารณาเหตุการณ์ อย่าตกเป็นเครื่องมือของใคร ขอเป็นกำลังใจให้หลายฝ่ายช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงโดยเร็ว” พระครูสังฆรักษ์ กล่าวปิดท้าย
       
       ...กว่า 2 ปีแล้วที่เหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นโดยที่ยังไม่เห็นวี่แวว ว่าจะยุติลงเมื่อไหร่ เสียงสะท้อนข้างต้นนี้ สะท้อนนัยสำคัญอย่างหนึ่งนั่นคือ ความรู้สึกระแวง และแปลกแยกระหว่างกลุ่มคนสองชาติพันธ์ที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมาเป็นเวลานาน
       

       ไม่เพียงคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติเท่านั้นที่จะต้องปรับบทบาทตัวเองอย่างหนักในการสร้างความสมานฉันท์ที่ให้เกิดขึ้นให้ได้ แต่ยังรวมถึงทุกส่วนทุกฝ่ายที่ต้องหาทางสกัดกั้นความคับแค้นเกลียดชังระหว่างทุกชนชั้นในชาติ
       
       อุดมคติอันสูงส่งของทุกศาสนา คือ ภาวะแห่งสันติสุข ความรัก ความเห็นใจในชะตากรรมร่วมกันหลักคำสอนของทุกศาสนา มิใช่อุปสรรคแห่งการดำรงอยู่ร่วมกันของกลุ่มชนที่แตกต่าง
       
       และสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องตั้งสติพิจารณากันให้รอบคอบก็ คือ อย่านำศาสนามาสร้างปัญหา !
       


ที่มา.- http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9480000148639


*******************