พระผู้เป็นต้นแบบแห่งการถวายอดิเรก.

สมัยรัชกาลที่ 2


                พระอุดมปิฎก นามเดิม สอน นามฉายา พุทฺธสโร เป็นชาวจังหวัดพัทลุง ได้เข้ามาพักอาศัยอยู่ ณ วัดหนัง เขตบางขุนเทียน (ปัจจุบันเป็นเขตจอมทอง) ได้มาศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัดหงสาราม ปัจจุบันเป็นวัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพหมานคร ภายหลังได้ย้ายมาอยู่วัดหงสาราม และเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดหงสาราม รูปที่ 5 เป็นเปรียญธรรม 9 ประโยค พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงรู้จักและคุ้นเคยเป็นอันดี ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ครั้นขึ้นเสวยราชย์แล้ว ก็ทรงตั้งให้พระมหาสอน เป็นพระราชาคณะ มีราชทินนามว่า พระอุดมปิฎก และเป็นเจ้าอาวาสวัดหงสารามจนตลอดรัชกาล เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 3 แล้ว รัชกาลที่ 4 ซึ่งยังผนวชอยู่ ก็ทรงลาสิกขาขึ้นเสวยราชสมบัติ พระอุดมปิฎก ก็ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหงสาราม กลับภูมิลำเนาเดิม

                ท่านเจ้าคุณพระอุดมปิฎก รูปนี้มีประวัติที่ควรจารึกไว้ให้ปรากฏ คือ เมื่อรัชกาลที่ 4 ขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว ท่านกลัวว่าราชภัยจะมาถึงตน เพราะเคยมีปฏิกิริยาคัดคานการทรงตั้งคณะธรรมยุติกนิกายอย่างแรงกล้า จึงรีบลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหงสาราม กลับไปอยู่ในภูมิลำเนาเดิม ครั้นถึงงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ทรงรับสั่งให้สืบหา พระอุดมปิฎกครั้งทรงทราบว่า ท่านจำพรรษาอยู่ ณ วัดสุนทราวาส (สนทรา) จ. พัทลุง จึงทรงรับสั่งให้อาราธนามาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา โดยให้เป็นภาระหน้าที่ของคณะข้าราชการ กรมการจังหวัดเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเดินทาง (โดยทางเรือ) ทุกประการ ท่านจึงเดินทางมาตามหมายกำหนดการ

                ครั้นถึงวันพระราชพิธี พระอุดมปิฎก เข้านั่งประจำที่ เป็นองค์สุดท้ายปลายแถว ถึงเวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมโดยลำดับ นับตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมาจนถึงพระอุดมปิฎก ทรงโสมนัสยิ่งนัก ทรงทักทายด้วยความคุ้นเคย ตอนท้ายทรงรับว่า ท่านเดินทางมาแต่ไกล นานปีจึงจะได้พบกัน ขอจงให้พรโยมให้ชื่นใจเถิด เมื่อได้รับอนุญาตจากสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ท่านเจ้าคุณก็ตั้งพัดยศขึ้นถวายพระพรด้วยปฏิภาณโวหารว่ากลอนสดเป็นภาษาบาลีว่า

อติเรกวสฺสสตํ    ชีว
อติเรกวสฺสสตํ    ชีว
อติเรกวสฺสสตํ    ชีว

ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ
ทีฆายุโก โหตุ อโรโค โหตุ

สุขิโต โหตุ ปรมินฺทมหาราชา

สิทฺธิกิจฺจํ สิทฺธิกมฺมํ สิทฺธิลาโภ ชโย นิจฺจํ
ปรมินฺทมหาราชวรสฺส ภวตุ สพฺพทา ขอถวายพระพร.

               เนื่องจากท่านไม่ได้เตรียมไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าจะต้องถวายพระพร จึงว่าติดเป็นระยะ ๆ วรรคแรกว่าซ้ำถึง 3 หน จึงว่าวรรคที่สองต่อไปได้ ว่าวรรคที่สองซ้ำถึง 2 หน จึงว่าวรรคที่สามต่อไปได้ และว่าไปได้ตลอดจนจบโดยมิได้ซ้ำอีกเลย

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสดับแล้วทรงโปรดพระพรบทนี้มาก จึงทรงรับสั่งให้ถือเป็นธรรมเนียม ให้พระสงฆ์ใช้พรบทนี้ถวายพระพรพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีทั้งปวงตราบเท่าทุกวันนี้โดยมิได้ตัดตอนแก้ไขแต่ประการใด แม้คำที่ท่านว่าซ้ำสองสามหน ก็รักษาไว้เหมือนเดิมเรียกว่า ถวายอดิเรก แต่ได้ทรงเพิ่มคำว่า ตุ ต่อท้ายคำว่า ชีว เป็น ชีวตุ สืบมาจนบัดนี้

                โดยที่พระอุดมปิฎก ผู้เป็นต้นเหตุถวายพระพรบทนี้เป็นพระราชาคณะ ดังนั้นจึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบมาว่า พระผู้ที่จะถวายอดิเรกได้นั้น ต้องมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ธรรมเนียมนี้ได้รักษามาเป็นเวลาช้านาน

                ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 จนถึงปัจจุบันนี้ ทางการคณะสงฆ์ได้อนุญาตให้พระครูชั้นสัญญาบัตรชั้นเอกผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ซึ่งถือพัดยศเปลวเพลิงเป็นผู้ถวายอดิเรกได้โดยอนุโลม นับได้ว่าพระอุดมปิฎก เป็นต้นบัญญัติแห่งการถวายอดิเรกด้วยประการฉะนี้

                มีเรื่องเล่าเพิ่มเติมว่า เนื่องจากท่านมหาสอนเป็นคนรูปร่างเล็กผิวดำและเตี้ย แม้ท่านจะสนใจในการศึกษา แต่ก็หาโอกาสสอบไม่ได้ ด้วยในขณะนั้น ผู้ที่เข้าสอบเปรียญ นอกจากจะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถแล้ว คณะกรรมการจะต้องพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีรูปร่างสวยงามและมีนิสัยใจคอดีด้วย ถึงคราวคณะกรรมการประชุมสอบ พระสอนชอบไปช่วยเหลือด้วยการต้มน้ำร้อนชงชาถวายคณะกรรมการเป็นประจำ

                วันหนึ่ง ขณะที่พระกรรมการกำลังประชุมสอบภิกษุรูปหนึ่งอยู่นั้น พระกรรมการรูปหนึ่งได้ออกจากที่ประชุมไปทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ ได้ยินเสียงพระสอนพูดกับพระรูปอื่นๆ ในวงชาว่า “ประโยคนี้แปลไม่ได้อีกก็แย่แล้ว” พระกรรมการรูปนั้นได้ยินก็สนใจถึงถามว่า คุณแปลได้หรือ ? พระสอนตอบว่า ถึงแปลได้ก็ไม่มีคนรับรองให้แปล พระกรรมการรูปนั้นจึงรับรองว่าจะเป็นผู้รับรองส่งเข้าสอบ จึงเป็นอันว่าพระสอนได้มีโอกาสเข้าสอบในเวลาต่อมา และสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคดังกล่าวแล้ว เรื่องรูปร่างสวยไม่สวยจึงค่อยคลายลงโดยลำดับมา

 

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี