สิกขา - สิคาลมาตา

สิกขา การศึกษา, การสำเหนียก, ข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรม มี ๓ อย่างคือ ๑. อธิสีลสิกขา ฝึกอบรม
ในเรื่องศีล ๒. อธิจิตตสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องจิต เรียกง่ายๆ ว่าสมาธิ ๓. อธิปัญญาสิกขา ฝึกอบรมในเรื่องปัญญา รวม
เรียกว่า ไตรสิกขา

สิกขาคารวตา ดู คารวะ

สิกขานุตตริยะ การศึกษาอันเยี่ยม ได้แก่ การฝึกอบรมในอธิศีล อธิจิตต์ และอธิปัญญา (ข้อ ๔ ในอนุตตริยะ ๖)

สิกขาบท ข้อที่ต้องศึกษา, ข้อศีล, ข้อวินัย, บทบัญญัติข้อหนึ่งๆ ในพระวินัยที่ภิกษุพึงศึกษาปฏิบัติ, ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล
๑๐ ศีล ๒๒๗ ศีล ๓๑๑ แต่ละข้อๆ เรียกว่าสิกขาบท เพราะเป็นข้อที่จะต้องศึกษา หรือเป็นบทฝึกฝนอบรมตนของ
สาธุชน อุบาสก อุบาสิกา สามเณร สามเณรี ภิกษุ และภิกษุณี ตามลำดับ

สิกขาสมมติ ความตกลงยินยอมของภิกษุณีสงฆ์ที่จะให้สามเณรี ผู้มีอายุ ๑๘ ปีเต็มแล้ว เริ่มรักษาสิกขาบท ๖ ประการ
ตลอดเวลา ๒ ปี ก่อนที่จะได้อุปสมบท, เมื่อภิกษุณีสงฆ์ให้สิกขาสมมติแล้ว สามเณรีนั้นได้ชื่อว่าเป็นสิกขามานา

สิขี พระนามของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอดีต, ดู พระพุทธเจ้า ๗

สิคาลมาตา พระมหาสาวิกาองค์หนึ่งเป็นธิดาเศรษฐีในพระนครราชคฤห์เจริญวัยแล้ว แต่งงาน มีบุตรคนหนึ่งชื่อ
สิงคาลกุมาร วันหนึ่งได้ฟังธรรมีกถาของพระศาสดา มีความเลื่อมใส (คัมภีร์อปทานว่า ได้ฟังสิงคาลกสูตรที่พระ
พุทธเจ้าทรงแสดงแก่บุตรของนาง ซึ่งว่าด้วยเรื่องอบายมุข มิตรแท้ มิตรเทียม ทิศ ๖ เป็นต้น และได้บรรลุโสดาปัตติ
ผล) ขอบวชเป็นภิกษุณี ต่อมาได้ไปฟังธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดง นางคอยตั้งตาดูพระพุทธสิริสมบัติด้วย
ศรัทธาอันแรงกล้า พระพุทธองค์ทรงทราบดังนั้น ก็ทรงแสดงธรรมให้เหมาะกับอัธยาศัยของนาง นางส่งใจไปตาม
กระแสพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัต ได้รับยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางศรัทธาธิมุต, สิคาลกมาตา หรือ
สิงคาลมาตาก็เรียก