สายโยค - สาราณียธรรม

สายโยค สายโยก, สายรัด ใช้กับถุงต่างๆ เช่น ที่ประกอบกับถุงบาตรแปลกันว่าสายโยกบาตร (บาลีว่า อํสวทฺธก); บาง
แห่งแปล อาโยค คือผ้ารัดเข่า หรือ สายรัดเข่า ว่า สายโยคก็มี แต่ในพระวินัยปิฎก ไม่แปลเช่นนั้น

สายัณห์ เวลาเย็น

สารณา การให้ระลึก ได้แก่กิริยาที่สอบถามเพื่อฟังคำให้การของจำเลย, การสอบสอบสวน

สารท เทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบ เดิมเป็นฤดูทำบุญด้วยเอาข้าวที่กำลังท้อง (ข้าวรวงเป็นน้ำนม) มาทำยาคูและกวน
ข้าวปายาสเลี้ยงพราหมณ์ อย่างนี้เรียกว่ากวนข้าวทิพย์ ส่วนผู้นับถือพุทธศาสนานำคตินั้นมาใช้ แต่เปลี่ยนเป็นถวาย
แก่พระภิกษุสงฆ์อุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติในปรโลก สำหรับชาวบ้านทั่วไปมักทำแต่กระยาสารท เป็นต้น (ต่างจาก
ศราทธ์)

สารนาถ ชื่อปัจจุบันของอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้นครพาราณสี สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา เคยเจริญ
รุ่งเรืองมาก เป็นศูนย์กลางการศึกษาทางพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีเจดีย์ใหญ่สูง ๒๐๐ ฟุต ถูกชาวฮินดูทำลาย
ก่อน แล้วถูกนายทัพมุสลิมทำลายสิ้นเชิงใน พ.ศ. ๑๗๓๘ (สารนาถมาจาก สารังคนาถ แปลว่า ที่พึ่งของเหล่ากวางเนื้อ)

สารัตถทีปนี ชื่อคัมภีร์ฎีกาอธิบายความในสมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาแห่งพระวินัยปิฎก พระสารีบุตรเถระ
แห่งเกาะลังกา เป็นผู้รจนาในรัชกาลของพระเจ้าปรักกมพาหุที่ ๑ (พ.ศ. ๑๖๙๖-๑๗๒๙)

สารัตถปกาสินี ชื่อคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในสังยุตตนิกาย แห่งพระสุตตันตปิฎก พระพุทธโฆษาจารย์รจนาใน
เกาะลังกา เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง ๑๐๐๐

สารันทเจดีย์ เจดียสถานแห่งหนึ่งที่เมืองเวสาลี นครหลวงของแคว้นวัชชี ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตต์โอภาสแก่
พระอานนท์ บาลีเป็น สารันททเจดีย์

สารัมภะ แข่งดี (ข้อ ๑๒ ในอุปกิเลส ๑๖)

สาราค ราคะกล้า, ความกำหนัดย้อมใจ

สาราณียธรรม ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ทำให้มีความเคารพกัน ช่วยเหลือ
กัน และสามัคคีพร้อมเพรียงกัน มี ๖ อย่าง คือ ๑. ตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร ๒. ตั้งวจี
กรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร ๓. ตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร ๔. แบ่ง
ปันลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม ๕. รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกับเพื่อนภิกษุสามเณร (มีสีลสามัญญตา) ๖. มีความเห็นร่วม
กันได้กับภิกษุสามเณรอื่นๆ (มีทิษฐิสามัญญตา); สารณียธรรม ก็เขียน