มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

บันทึกของผู้เรียบเรียง

๑. หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูปลัดสมัย กิตฺติทตฺโต เจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ มีชื่อว่า “พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับครู นักเรียน นักธรรม
แต่ในการพิมพ์ครั้งที่สองนี้ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์” ทั้งนี้เพราะชื่อเดิมยาวเกินไป เรียกยาก
การที่มีคำสร้อยท้ายชื่อว่า “ฉบับประมวลศัพท์” ก็เพื่อป้องกันความสับสน โดยทำให้ต่างออกไปจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์” ของผู้เรียบเรียงเดียวกัน ซึ่งมีอยู่ก่อน
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์เป็นพจนานุกรมซึ่งรวบรวบและอธิบาย
คำศัพท์ทั่วไปทุกประเภทที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น หลักธรรม พระวินัย พิธีกรรม ประวัติบุคคลสำคัญ ตำนาน และวรรณคดีที่สำคัญ เป็นต้น ต่างจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ (จะขยายชื่อเป็น พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม) ที่มุ่งรวบรวมและอธิบายเฉพาะ
แต่หลักธรรมซึ่งเป็นสาระสำคัญของพระพุทธศาสนา
๒. ศัพท์ที่รวบรวมมาอธิบายในหนังสือนี้ แยกได้เป็น ๓ ประเภทใหญ่ ๆ คือ
๑) พุทธศาสนประวัติ มีพุทธประวัติเป็นแกน รวมถึงสาวกประวัติ ประวัติบุคคล สถานที่ และ
เหตุการณ์สำคัญในพระพุทธศาสนา ตลอดจนตำนาน และเรื่องราวที่มาในวรรณคดีต่าง ๆ เฉพาะที่คนทั่วไป
ควรรู้
๒) ธรรม คือหลักคำสอน ทั้งที่มาในพระไตรปิฎก และในคัมภีร์รุ่นหลังมี อรรถกถาเป็นต้น
รวมไว้เฉพาะที่ศึกษาเล่าเรียนกันตามปกติ และเพิ่มบางหลักที่น่าสนใจเป็นพิเศษ
๓) วินัย หมายถึง พุทธบัญญัติที่กำกับความประพฤติและความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ และในที่นี้
ให้มีความหมายครอบคลุมถึงขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรมบางอย่างที่ได้เป็น
เครื่องยึดเหนี่ยวคุมประสานสังคมของชาวพุทธไทยสืบต่อกันมา นอกจากนี้มีศัพท์เบ็ดเตล็ด เช่น คำกวีซึ่งผูกขึ้นโดยมุ่งความไพเราะ และคำไทยบางคำที่ไม่คุ้นแต่ปรากฏในแบบเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งพระภิกษุสามเณรจำเป็นจะต้องรู้ความหมาย เป็นต้น
๓. หนังสือนี้รวมอยู่ในโครงการส่วนตัว ที่จะขยายปรับปรุงก่อนการจัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ และได้เพิ่มเติมปรับปรุงไปบ้างแล้วบางส่วน แต่ตามที่ตั้งใจไว้กะว่าจะปรับปรุง
จริงจังและจัดพิมพ์ภายหลังพจนานุกรมพุทธศาสตร์ (ฉบับประมวลธรรม) ครั้น ดร.สุจินต์ ทังสุบุตร ติดต่อขอพิมพ์เป็นธรรมทานในงานพระราชทานเพลิงศพบิดาผู้เป็นบุรพการี จึงเป็นเหตุให้การพิมพ์เปลี่ยนลำดับ กลายเป็นว่าหนังสือนี้จะสำเร็จก่อน โดยเบื้องแรก
ตกลงว่าจะพิมพ์ไปตามฉบับเดิมที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ปรับปรุง แต่ปัญหาข้อยุ่งยากติดขัดที่ทำ
ให้การพิมพ์ล่าช้าได้กลายเป็นเครื่องช่วยให้ได้โอกาสรีบเร่งระดมงานแทรกเพิ่มปรับ
ปรุงแข่งกันไปกับงานแก้ไขปัญหา จนหนังสือนี้มีเนื้อหาเกือบจะครบถ้วนสมบูรณ์ตามความมุ่งหมาย นับว่าเจ้าภาพงานนี้ได้มีอุปการะมากต่อความสำเร็จของงานปรับปรุงหนังสือและต่อการช่วยให้งาน
เสร็จสิ้นโดยเร็วไม่ยืดเยื้อต่อไป
อย่างไรก็ดี มีผลสืบเนื่องบางอย่างที่ควรทราบไว้ด้วย เพื่อให้รู้จักหนังสือนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น
ก) ในโครงการปรับปรุงเดิม มีข้อพิจารณาอย่างหนึ่งว่า จะรวมศัพท์ที่แปลกในหนังสือ ปฐม
สมโพธิกถา
และใน มหาเวสสันดรชาดก เข้าด้วยหรือไม่ การพิมพ์ที่เร่งด่วนครั้งนี้ได้ช่วย
ตัดสินข้อพิจารณานั้นให้ยุติลงได้ทันที คือเป็นอันต้องตัดออกไปก่อน แต่การไม่รวมศัพท์ในวรรณคดี ๒ เรื่องนั้นเข้ามาก็ไม่ทำให้พจนานุกรมนี้เสียความสมบูรณ์แต่อย่างใด เพราะศัพท์ส่วนมาก
ในปฐมสมโพธิกถาและมหาเวสสันดรชาดก เป็นคำกวีและคำจำพวกตำนาน ซึ่งมุ่งความไพเราะ
หรือเป็นความรู้ประกอบ อันเกินจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ในระดับสามัญ ว่าที่จริงศัพท์สอง
ประเภทนั้นเท่าที่มีอยู่เดิมในหนังสือนี้ก็นับว่ามากจนอาจจะทำให้เกิดความสับสนกับศัพท์จำ
พวกหลักวิชาได้อยู่แล้ว ส่วนความรู้ที่เป็นหลักการของพระพุทธศาสนาที่ปรากฏ
ในวรรณคดี ๒ เรื่องนั้น กล่าวได้ว่ามีอยู่ในพจนานุกรมนี้แล้วแทบทั้งหมด
ข) การปรับปรุงอย่างเร่งด่วนแข่งกับเวลาที่บีบรัดทำให้เกิดความลักลั่นขึ้นบ้างในอัตราส่วนของ
การอธิบาย คือ บางคำอธิบายขยายใหม่ยืดยาวมาก เช่น " ไตรปิฎก "ยาวเกิน ๑๐ หน้า แต่บางคำคงอยู่อย่างเดิมซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วกลายเป็นสั้นเกินไป เช่น " ไตรสิกขา "ที่อยู่ใกล้กันนั้นเอง และศัพท์บางศัพท์ยังตกหล่นหลงตา เช่น ไตรทศ ไตรทิพย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อบกพร่องเช่นนี้เหลืออยู่น้อยยิ่ง โดยมากเป็นส่วนที่พิสดารเกินไปมากกว่าจะเป็น
ส่วนที่หย่อนหรือขาด และถ้ารู้จักค้นก็สามารถหาความหมายที่ลึกละเอียดออก
ไปอีกได้ เช่น ไตรสิกขา ก็อาจเปิดดูคำย่อยต่อไปอีก คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ส่วนคำจำพวก ไตรทศ ไตรทิพย์ ก็เป็นกึ่งคำกวี ไม่ใช่ศัพท์วิชาการแท้ เพียงแต่หาความหมายของศัพท์ ไม่ต้องอธิบายด้านหลักวิชา อาจปรึกษาพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้
๔. ความหมายและคำอธิบายศัพท์ นอกจากส่วนใหญ่ที่ได้ค้นคว้ารวบ
รวมและเรียบเรียงขึ้นเป็นเนื้อหาเฉพาะของพจนานุกรมนี้แล้ว มีแหล่งที่ควรทราบอีก คือ
๑) ศัพท์จำนวนหนึ่ง เกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชานักธรรม ซึ่งการตอบและอธิบายตามแบบ
แผนมีความสำคัญมากสำหรับผู้เรียนและผู้สอบในระบบนั้น (โดยมากเป็นศัพท์พระวินัย และมีศัพท์ทางวิชาธรรมปนอยู่บ้าง) ในที่นี้มักคัดเอาความหมายและคำอธิบายในแบบ
เรียนมาลงไว้ด้วย
๒) ศัพท์บางศัพท์ ที่เห็นว่าความหมายและคำอธิบายในหนังสือ “ศัพท์หลักสูตรภาษาไทย” ของ
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ชัดเจนและใช้ได้ดีอยู่ ก็คงไว้ตามนั้น
๓) ศัพท์ที่ใช้กันในภาษาไทย ซึ่งผู้ค้นมักต้องการเพียงความหมายของคำศัพท์ ไม่มีเรื่องที่ต้องรู้
ในทางหลักวิชามากกว่านั้น และแห่งถือตามพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
๔) ในขั้นสมบูรณ์ของพจนานุกรมนี้ ได้ตั้งใจไว้ว่าจะแสดงหลักฐานที่มาในคัมภีร์ของเรื่องที่
เป็นหลักวิชาไว้ทั้งหมดโดยละเอียด แต่เพราะต้องส่งต้นฉบับเข้าโรงพิมพ์ทันทีก่อนแล้ว จึงมีการแทรกเพิ่มปรับปรุงตามโอกาสภายหลัง การบอกที่มาให้ทั่วถึงจึงเป็นไปไม่ได้ ครั้นจะแสดงที่มาของเรื่องที่มีโอกาสแทรกเพิ่มหรือปรับปรุงใหม่ ก็จะทำให้เกิดความลักลั่น ไม่สม่ำเสมอกัน จึงงดไว้ก่อนทั้งหมด ผู้ใช้พจนานุกรมนี้จึงจะพบหลักฐานที่มาบ้าง ก็เฉพาะที่เป็นเพียงข้อความบอกชื่อหมวดชื่อคัมภีร์ อย่างเป็นส่วนหนึ่ง
ของคำอธิบาย ไม่มีตัวเลขบอกเล่ม ข้อ และหน้า ตามระบบการบอกที่มาที่สมบูรณ์
การเพิ่มเติมและปรับปรุงแม้จะได้ทำอย่างรีบเร่งแข่งกับการพิมพ์เท่าที่โอกาสเปิดให้แต่ก็นับว่าใกล้
ความครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้เนื้อหาของหนังสือขยายออกไปมากประมาณว่าอีก ๑ ใน ๓ ของฉบับพิมพ์ครั้งแรก มีศัพท์ที่เพิ่มใหม่และปรับปรุงหลายร้อยศัพท์ กระนั้นก็ตาม เมื่อถึงโอกาสก็จะมีการปรับปรุงใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้กลมกลืนสม่ำเสมอโดยสมบูรณ์และ
เหมาะแก่ผู้ใช้ประโยชน์ทุกระดับ ตั้งแต่นักสอนจนถึงชาวบ้าน
อนึ่ง ในการเพิ่มเติมและปรับปรุงนี้ ได้มีท่านผู้เป็นนักสอนนักเผยแพร่ธรรม
ช่วยบอกแจ้งศัพท์ตกหล่นในการพิมพ์ครั้งก่อนและเสนอศัพท์ที่ควรเพิ่มเติมหรือปรับปรุง
คำอธิบายหลายศัพท์คือ พระมหาอารีย์ เขมจาโร วัดระฆังโฆสิตาราม รองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บอกแจ้งมา ๑๔ ศัพท์ เช่น ติตถิยปักกัน
กะ จีวรมรดก อนาโรจนา อุโปสถิกภัต เป็นต้น คุณหมออมรา มลิลา เสนอเพิ่มเติม ๒๔ ศัพท์ เช่น จังหัน จาร เจริญพร ต้อง ทุกกฏทุพภาสิต ธิติ สังฆการี เป็นต้น และเสนอปรับปรุง
คำที่อธิบายไม่ชัดเจน อ่านเข้าใจยาก หรือสั้นเกินไป ๒๓ ศัพท์ เช่น กัปปิยภูมิ กุฑวะ คันโพง ดาวเคราะห์ เป็นต้น นับว่าได้มีส่วนช่วยเสริมให้หนังสือสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ในการพิมพ์ที่เร่งด่วนภายในเวลาที่จำกัด ต่อหน้าปัญหาความยุ่งยากสับสนในกระบวนการพิมพ์ช่วงต้นที่ไม่ราบรื่นนั้น คุณชุติมา ธนะปุระได้มีจิตศรัทธาช่วยพิสูจน์อักษรส่วนหนึ่ง (คุณชุติมา และคุณยงยุทธ
ธนะปุระได้บริจาคทุนทรัพย์พิมพ์พจนานุกรมนี้แจกเป็นธรรมทานจำนวนหนึ่งด้วย) คุณพนิตา อังจันทร์เพ็ญ ได้ช่วยพิสูจน์อักษรอีกบางส่วน และช่วยติดต่อประสานงานทางด้านโรงพิมพ์ ทางด้านเจ้าภาพ ช่วยเหลือทำธุระให้ลุล่วงไปหลายประการ นับว่าเป็นผู้เกื้อกูลแก่งาน
พิมพ์หนังสือครั้งนี้เป็นอันมาก
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์เสร็จสิ้นในบัดนี้ ก่อนพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ไม่ยืดเยื้อยาวนานต่อไป ก็เพราะคณะเจ้าภาพงานพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์จิตร ทังสุบุตร ซึ่งมี ดร.สุจินต์ ทังสุบุตร เป็นผู้ติดต่อขอพิมพ์ได้เพียรพยายาม เร่งรัดติดตามงานมาโดยตลอด และได้สละทุนทรัพย์เป็นอันมากในการผลักดันให้การพิมพ์ ผ่านพ้นปัญหาข้อติดขัดต่างๆ เป็นฐานให้การพิมพ์ส่วนที่จะเพิ่มเติมเป็นไปได้โดย
สะดวกและเสียค่าใช้จ่ายลดน้อยลง นอกจากนี้ เจ้าภาพที่ขอพิมพ์เผยแพร่อีกหลายราย
ก็ล้วนเป็นผู้มีจิตศรัทธาจัดพิมพ์แจกเป็นธรรมทานทั้งสิ้น เจ้าภาพที่ขอพิมพ์จำนวนมากที่สุด คือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แม้จะพิมพ์เพื่อจำหน่าย มิใช่พิมพ์แจกอย่างให้เปล่า แต่ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลประโยชน์ไปบำรุงการศึกษาของพระภิกษุสามเณร นับว่าเป็นกุศลเช่นกัน นอกจากนี้ เมื่อมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขาดแคลนทุนที่จะใช้ในการพิมพ์พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ก็บังเอิญให้คุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ์ ได้ทราบ จึงได้เชิญชวนญาติมิตรของท่าน ร่วมกันตั้งกองทุนพิมพ์พจนานุกรมพุทธศาสตร์ขึ้น กองทุนนั้นมีจำนวนเงินมากจนพอที่จะ
ใช้พิมพ์พจนานุกรมพุทธศาสน์เล่มนี้ด้วย เป็นเครื่องอุปถัมภ์ให้การพิมพ์
สำเร็จลุล่วงสมหมาย ทำให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้พจนานุกรมทั้งสองเล่ม
สำหรับจำหน่ายเก็บผลประโยชน์โดยมิต้องลงทุนลงแรงใด ๆ เลย
ขออนุโมทนากุศลเจตนา บุญกิริยา และความอุปถัมภ์ของท่านผู้ที่ได้กล่าวนามมาข้างต้น ขอทุกท่านจงประสบจตุรพิธพร เจริญงอกงามในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป และขอธรรมทานที่ได้ร่วมกันบำเพ็ญนี้จงเป็นเครื่องชัก
นำมหาชนให้บรรลุประโยชน์สุขอันชอบธรรมโดยทั่วกัน

พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
๑๓ ตุลาคม ๒๕๒๗