อุพภตกสัณฐาคาร - อุรุเวลกัสสป

อุพภตกสัณฐาคาร ท้องพระโรงชื่ออุพภตก เป็นท้องพระโรง หรือหอประชุมที่สร้างขึ้นใหม่ของมัลลกษัตริย์แห่ง
เมืองปาวา มัลลกษัตริย์ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าไปประทับพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนจะเปิดใช้งาน
ณ ที่นี้ พระสารีบุตรได้แสดงสังคีติสูตร อันเป็นต้นแบบของการสังคายนา

อุภโตพยัญชนก คนมีทั้ง ๒ เพศ

อุภโตภาควิมุต “ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน” คือ พระอรหันต์ผู้บำเพ็ญสมถะมาเป็นอย่างมากจนได้สมาบัติ ๘ แล้ว จึงใช้
สมถะนั้นเป็นฐานบำเพ็ญวิปัสสนาต่อไปจนบรรลุอรหัตตผล; หลุดพ้นทั้งสองส่วน (และสองวาระ) คือหลุดพ้นจาก
รูปกายด้วยอรูปสมาบัติ (เป็นวิกขัมภนะ) หนหนึ่งแล้ว จึงหลุดพ้นจากนามกายด้วยอริยมรรค (เป็นสมุจเฉท) อีกหน
หนึ่ง เทียบ ปัญญาวิมุต

อุภโตสุชาต เกิดดีแล้วทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายมารดาทั้งฝ่ายบิดา หมายความว่า มีสกุลสูง เป็นเชื้อสายวรรณะนั้นต่อ
เนื่องกันมาโดยตลอด ทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา, เป็นคุณสมบัติที่พวกพราหมณ์และกษัตริย์บางวงศ์ถือเป็นสำคัญ
มาก

อุภยัตถะ ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย, ประโยชน์ร่วมกัน, สิ่งที่เกื้อกูลแก่ส่วนรวมเป็นคุณแก่ชีวิตทั้งของตนเองและของผู้
อื่น ช่วยให้เป็นอยู่กันด้วยดีพากันประสบทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะและปรมัตถะ ยิ่งขึ้นไป; ดู อัตถะ

อุรุเวลกัสสป พระมหาสาวกองค์หนึ่งเคยเป็นนักบวชประเภทชฎิล นับถือลัทธิบูชาไฟ ถือตัวว่าเป็นพระอรหันต์สร้าง
อาศรมสั่งสอนลัทธิของตนอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเพราะเหตุที่เป็นชาวกัสสปโคตร และอยู่ ณ ตำบล
อุรุเวลา จึงได้ชื่อว่า อุรุเวลกัสสป ท่านผู้นี้เป็นคณาจารย์ใหญ่ที่ชาวราชคฤห์นับถือมาก มีน้องชายสองคน คนหนึ่งชื่อ
นทีกัสสป อีกคนหนึ่งชื่อคยากัสสป ล้วนเป็นหัวหน้าชฎิลตั้งอาศรมอยู่ถัดกันไปบนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ไม่ห่างไกล
จากอาศรมของพี่ชายใหญ่ ต่อมาพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ทรงทรมานอุรุเวลกัสสปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ จนท่าน
ชฎิลใหญ่คลายพยศ ยอมมอบตัวเป็นพุทธสาวกขอบรรพชา ทำให้ชฎิลผู้น้องทั้งสองพร้อมด้วยบริวารออกบวชตาม
ด้วยทั้งหมด ครั้นบวชแล้วได้ฟังเทศนาอาทิตตปริยายสูตร จากพระพุทธเจ้า ก็ได้สำเร็จพระอรหัต ทั้งสามพี่น้อง
พร้อมด้วยบริวารทั้งหมดรวมหนึ่งพันองค์ พระอุรุเวลกัสสปได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางมีบริษัทใหญ่ คือมี
บริวารมาก