อาบัติที่เป็นโทษล่ำ - อามะ

อาบัติที่เป็นโทษล่ำ อาบัติปาราชิกและสังฆาทิเสส

อาปณะ ชื่อนิคม ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นอังคุตตราปะ

อาปัตตาธิกรณ์ อธิกรณ์คืออาบัติ หมายความว่า การต้องอาบัติและการถูกปรับอาบัติ เป็นอธิกรณ์โดยฐานเป็นเรื่องที่
จะต้องจัดทำ คือระงับด้วยการแก้ไขปลดเปลื้องออกจากอาบัตินั้นเสีย มีการปลงอาบัติ หรือการอยู่กรรม เป็นต้น ตาม
วิธีที่ท่านบัญญัติไว้

อาปุจฉา บอกกล่าว, ถามเชิงขออนุญาต เป็นการแสดงความเอื้อเฟื้อ, แจ้งให้ทราบ เช่น ภิกษุผู้อ่อนพรรษาจะแสดง
ธรรม ต้องอาปุจฉาภิกษุผู้มีพรรษามากกว่าก่อน

อาโปธาตุ ธาตุที่มีลักษณะเอิบอาบ ดูดซึม, แปลสามัญว่า ธาตุน้ำ, ในร่างกายที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่ ดีเสลด
หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ข้อความนี้ เป็นการกล่าวถึงอาโปธาตุในลักษณะที่
คนสามัญทุกคนจะเข้าใจได้และพอให้สำเร็จประโยชน์ในการเจริญกรรมฐาน แต่ในทางอภิธรรม อาโปธาตุเป็น
สภาวะที่สัมผัสด้วยกายไม่ได้ มีในรูปธรรมทั่วไป แม้แต่ในกระดาษหนังสือ ในก้อนหิน ก้อนเหล็ก และแผ่นพลาสติก
ดู ธาตุ

อาพาธ ความเจ็บป่วย, โรค (ใช้เฉพาะพระภิกษุสามเณร)

อาภัพ ไม่สมควร, ไม่สามารถ, เป็นไปไม่ได้ (จากคำบาลีว่า อภพฺพ เช่น ผู้กระทำมาตุฆาต ไม่สามารถบรรลุมรรคผล,
พระโสดาบันไม่สามารถทำมาตุฆาต เป็นต้น); ไทยใช้เฉพาะในความว่า ไม่ควรจะได้จะถึงสิ่งนั้น ๆ, ไม่มีทางจะได้
สิ่งที่มุ่งหมาย, วาสนาน้อยตกอับ ดู อภัพบุคคล

อาภัสสระ ผู้มีรัศมีแผ่ซ่าน, เปล่งปลั่ง,ชื่อพรหมโลกชั้นที่ ๖ ดู พรหมโลก (พจนานุกรมเขียน อาภัสระ)

อาภา แสง, รัศมี, ความสว่าง

อามะ คำรับในภาษาบาลี ตรงกับ ถูกแล้ว, ใช่, ครับ, ค่ะ, จ้ะ, เออ ถ้าผู้กล่าวรับเป็นผู้น้อยกว่าหรือมีพรรษาน้อยกว่า
หรือเป็นคฤหัสถ์พูดกับพระสงฆ์ กล่าวต่อว่า ภันเต เป็น อามะ ภันเต ถ้าผู้กล่าวรับเป็นผู้ใหญ่กว่าหรือมีพรรษามาก
กว่า หรือเป็นพระสงฆ์พูดกับคฤหัสถ์ กล่าวต่อว่า อาวุโส เป็น อามะ อาวุโส (เขียนตามรูปบาลีเป็น อาม ภนเต, อาม
อาวุโส)