อัฑฒมณฑล - อัตตา

อัฑฒมณฑล กระทงน้อย คือ ชิ้นส่วนของจีวรพระที่เป็นผืนผ้ารูปสี่เหลี่ยมมีแผ่นผ้าแคบคั่นแต่ละด้าน ลักษณะ
เหมือนกระทงนามีคันนากั้น, มี ๒ ขนาด กระทงเล็กเรียก อัฑฒมณฑล กระทรงใหญ่เรียก มณฑล, กระทงเล็กหรือ
กระทงน้อย มีขนาดครึ่งหนึ่งของกระทงใหญ่ ในจีวรผืนหนึ่ง มีกระทงน้อยอย่างต่ำ ๕ ชิ้น

อัตตกิลมถานุโยค การประกอบตนให้ลำบากเปล่า คือ ความพยายามเพื่อบรรลุผลที่หมายด้วยวิธีทรมานตนเอง เช่น
การบำเพ็ญตบะต่าง ๆ ที่นิยมกันในหมู่นักบวชอินเดียจำนวนมาก (ข้อ ๒ ใน ที่สุด ๒ อย่าง)


อัตตภาพ ความเป็นตัวตน, ชีวิต, เบญจขันธ์, บัดนี้เขียน อัตภาพ

อัตตวาทุปาทาน การถือมั่นวาทะว่าตน คือความยึดถือสำคัญมั่นหมายว่านั่นนี่เป็นตัวตน เช่น มองเห็นเบญจขันธ์เป็น
อัตตา, อย่างหยาบขึ้นมา เช่นยึดถือมั่นหมายว่า นี่เรา นั่นของเรา จนเป็นเหตุแบ่งแยกเป็นพวกเรา พวกเขา และเกิด
ความถือพวก (ข้อ ๔ ใน อุปาทาน ๔)

อัตตวินิบาต ทำลายตัวเอง, ฆ่าตัวเอง; บัดนี้เขียน อัตวินิบาต

อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบคือดำรงตนอยู่ในศีลธรรม และดำเนินแน่วแน่ในวิถีทางที่จะนำไปสู่จุดหมายที่ดี
งาม (ข้อ ๓ ในจักร ๔)

อัตตสุทธิ การทำตนให้บริสุทธิ์จากบาป

อัตตหิตสมบัติ ดู อัตตัตถสมบัติ

อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน เช่น รู้ว่า เรามีความรู้ ความถนัด คุณธรรม ความสามารถ และฐานะ เป็นต้น แค่ไหน
เพียงไร แล้วประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดผลดี (ข้อ ๓ ในสัปปุริสธรรม ๗)

อัตตัตถะ ประโยชน์ตน, สิ่งที่เป็นคุณแก่ชีวิต ช่วยให้เป็นอยู่ด้วยดี สามารถพึ่งตน หรือเป็นที่พึ่งแก่ตนได้ ไม่ว่าจะเป็น
ทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือสัมปรายิกัตถะ หรือปรมัตถะ ก็ตาม, เทียบ ปรัตถะ

อัตตัตถสมบัติ ความถึงพร้อมด้วยประโยชน์ตน เป็นพุทธคุณอย่างหนึ่งคือ การที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีธรรม
กำจัดอาสวกิเลสทั้งปวงและทำ ศีล สมาธิ ปัญญาให้บริบูรณ์ สมบูรณ์ด้วยพระญาณทั้งหลาย เพียบพร้อมด้วยพระคุณ
สมบัติมากมาย เป็นที่พึ่งของพระองค์เองได้ และเป็นผู้พร้อมที่จะบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลกต่อไป มักเขียน
เป็น อัตตหิตสมบัติ ซึ่งแปลเหมือนกัน; เป็นคู่กันกับ ปรัตถปฏิบัติ หรือ ปรหิตปฏิบัติ

อัตตา ตัวตน, อาตมัน; ปุถุชนย่อมยึดมั่นมองเห็นขันธ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมดเป็นอัตตา หรือยึดถือว่ามี
อัตตาเนื่องด้วยขันธ์ ๕ โดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง; เทียบ อนัตตา