อวันตี - อวิหิงสาวิตก
อวันตี ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา
๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีป ตั้งอยู่ทางเหนือของภูเขาวินธัย ทางตะวันตกเฉียงใต้
ของแคว้นวังสะ มีนครหลวงชื่อ อุชเชนี ราชาผู้ครองอวันตีในพุทธกาล มีพระนามว่าพระเจ้าจัณฑปัชโชต
อวัสดา ฐานะ, ความเป็นอยู่,
ความกำหนด, เวลา, สมัย
อวิชชา ความไม่รู้จริง,
ความหลงอันเป็นเหตุไม่รู้จริง มี ๔ คือความไม่รู้อริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง
(ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิด
แห่งทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ทางให้ถึงความดับทุกข์), อวิชชา ๘
คือ อวิชชา ๔ นั้น และเพิ่ม ๕. ไม่รู้อดีต ๖. ไม่รู้
อนาคต ๗. ไม่รู้ทั้งอดีตทั้งอนาคต ๘. ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท
อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา,
กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ทำให้ไม่รู้ตามความเป็นจริง (ข้อ ๓ ในอาสวะ
๓, ข้อ ๔ ในอาสวะ ๔)
อวิญญาณกะ พัสดุที่ไม่มีวิญญาณ
เช่น เงิน ทอง ผ้านุ่งห่ม และเครื่องใช้สอย เป็นต้น เทียบ สวิญญาณกะ
อวิทยา ความไม่รู้,
อวิชชา
อวิทูเรนิทาน เรื่องไม่ไกลนัก
หมายถึงเรื่องราวความเป็นไปเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ตั้งแต่จุติมาจากสวรรค์ชั้นดุสิตจน
ถึงตรัสรู้
อวินิพโภครูป รูปที่แยกออกจากกันไม่ได้,
รูปที่มีอยู่ด้วยกันเป็นประจำเสมอไป อย่างขาดมิได้เลยในสิ่งที่เป็นรูปทุก
อย่าง กล่าวคือในสิ่งที่เป็นรูปทุกอย่าง แม้แต่ปรมาณูที่เล็กที่สุดก็จะต้องมีรูปธรรมชุดนี้อยู่เป็นอย่างน้อย,
คุณสมบัติ
พื้นฐานที่มีอยู่เป็นประจำในวัตถุ, มี ๘ อย่าง คือ ปฐวี (ภาวะแผ่ขยายหรือรองรับ)
อาโป (ภาวะเอิบอาบเกาะกุม) เตโช
(ภาวะร้อน) วาโย (ภาวะเคลื่อนไหวเคร่งตึง) วัณณะ (สี) คันธะ
(กลิ่น) รสะ (รส) โอชา (อาหารรูป); ใน ๘ อย่างนี้ สี่
อย่างแรกเป็นมหาภูตรูปหรือธาตุ ๔, สี่อย่างหลังเป็นอุปาทายรูป
อวิหิงสาวิตก ความตริตรึกในทางไม่เบียดเบียน,
ความตรึกด้วยอำนาจกรุณา ไม่คิดทำความลำบากเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
คิดแต่จะช่วยเหลือเขาให้พ้นจากทุกข์ (ข้อ ๓ ในกุศลวิตก ๓)